ถอดสัญญาณเลือกตั้งปี 2566 ในโลกโซเชียลมีเดีย หลังถูกพรรคการเมืองไทยใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงมากขึ้น...

พรรคการเมืองไทยใช้ "โซเชียลมีเดีย" เป็นเครื่องมือในการหาเสียง "เลือกตั้งปี 2566" มากน้อยแค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับ "การเลือกตั้งปี 2562" และอุณหภูมิการเมืองไทยจะเข้าสู่ "จุดแตกหัก" จากความพยายามใช้ "กลยุทธแบ่งขั้วแบ่งฝ่าย" เพื่อหาผู้สนับสนุนในทางการเมืองผ่านโชเชียลมีเดียหรือไม่ และพบสัญญาณอะไรในโซเชียลท่ามกลางการชุลมุนหาเสียงนี้บ้าง รวมถึงประชาชนชาวไทยควรมีวิธีการในการรับมือเรื่องนี้อย่างไร วันนี้ "เรา" ไปร่วมฟังทัศนะจาก "อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร นักวิชาการอิสระด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร" ผ่านการสนทนากับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ในประเด็นเหล่านั้นกันดู...

"อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร นักวิชาการอิสระด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร"

...

โซเชียลมีเดีย กับ การหาเสียงพรรคการเมืองไทย :

"ผมมองแบบนี้ครับ ประเด็นแรกประโยชน์ของโชเชียลมีเดียในทางการเมือง โดยเฉพาะช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง คือ 1. ทำให้สามารถรู้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งกันและกันได้แบบ Real Time 2. นักการเมืองสามารถแสดงตัวตนโดยเฉพาะวิสัยทัศน์และอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนของตัวเองผ่านโชเชียลมีเดียได้ โดยไม่มีข้อจำกัดด้าน เวลา สถานที่ และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสื่อกระแสหลัก 3. สามารถขยายขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและนักการเมืองจากโลกออนไลน์ไปสู่โลกจริงได้ง่ายขึ้น”

โซเชียลมีเดีย กับ ศึกเลือกตั้งปี 62 VS ปี 66 :

"หากเปรียบเทียบการเลือกตั้งระหว่างปี 2562 กับ การเลือกตั้ง 2566 สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก่อน คือ ประชาชนในยุคปัจจุบันใช้โชเชียลมีเดียมากขึ้นกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังมักนิยมการใช้โซเชียลมีเดียในการหาข่าวทางการเมืองแทนสื่อกระแสหลักมากขึ้นด้วย

ด้วยเหตุนี้ นักการเมือง ณ ปี 2566 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหันไปใช้โซเชียลมีเดียเกือบทุกแพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือในการหาเสียงควบคู่ไปกับการลงพื้นที่ปราศัยเพื่อสัมผัสกับประชาชนให้มากขึ้น จากนั้นก็จะนำข้อมูลการลงพื้นที่มาแชร์ลงในโชเชียลมีเดีย สลับกับการนำ Content ที่แชร์ในโซเชียลมีเดีย ออกไปประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อขยายการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับนโยบายและจุดยืนทางการเมืองให้ได้กว้างขวางและรวดเร็วมากที่สุด ซึ่งบางครั้งเกือบจะเป็น Real Time เลยก็มี

การเลือกตั้งปี 2566 เห็นได้ชัดเจนว่าพรรคการเมืองต่างๆ ใช้โชเชียลมีเดียในการหาเสียงมากกว่าการเลือกตั้งปี 2562 มาก (ลากเสียง) เพราะเท่าที่ผมได้ลองสังเกตง่ายๆ การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ส่วนตัวผมได้รับ Content การเมืองไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบาย หรือ Content ในลักษณะ Hate Speech ระหว่างขั้วการเมือง ตามกลุ่มต่างๆ ในโซเชียลมีเดียไม่มากนัก ซึ่งผิดกับการเลือกตั้งปีนี้ ที่ผมได้รับการแชร์ Content ในลักษณะดังกล่าวมาอย่างมากมาย"

ถอดสัญญาณการเมืองไทยผ่านโชเชียลมีเดียในการเลือกตั้งปี 66 :

"เท่าที่ผมสังเกตเห็น ประการแรกที่เด่นชัดมากคือ ความขัดกันของนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง เพราะมันเป็นไปในลักษณะ พรรคหนึ่งทำ อีกพรรคหนึ่งจะไม่ทำ หรือ นโยบายของเดิมทำไว้ แต่ของใหม่อาจจะไม่อยากทำ หรือไม่ก็ ถ้าของเดิมทำไว้ หากเราทำมันต้องดีกว่า (หัวเราะ) หรือ อาจจะไม่ทำเลยเป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นสัญญาณที่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนค่อนข้างมาก เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเลิกเมื่อไร หรือ สิ่งที่เคยได้มันจะถูกยกเลิกไปหรือไม่ รวมถึง ของใหม่ที่กำลังจะมามันจะดีหรือเปล่า?

ประการที่ 2 สัญญาณของการรวมตัวของกลุ่มทางการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้นผ่านโชเชียลมีเดีย ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ ที่อาจไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ปัจจุบันหากลองมองไปยัง กลุ่มต่างๆ ตามแพลตฟอร์มโชเชียลมีเดีย เราจะเห็นปรากฏการณ์ การแบ่งกลุ่มแบ่งฝั่งทางการเมืองอย่างชัดเจน

ประการที่ 3 หากสังเกตดีๆ การหาเสียงของพรรคการเมืองในปัจจุบัน จะมีการใช้วาทกรรมที่แบ่งกลุ่มของประชาชนออกเป็นกลุ่มก้อนในลักษณะของการเลือกข้างเพื่อดึงมวลชนของตัวเองเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็เป็นเกทับฝ่ายตรงข้ามไปในตัวด้วย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้น มันจะทำให้พวกที่มีแนวโน้มว่าจะสนับสนุนตัวเองอยู่ ก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น ส่วนพวกที่ยังลังเลใจก็อาจจะเปลี่ยนใจมาหาอย่างนี้เป็นต้น

...

ประการที่ 4 เกิดปรากฏการณ์ที่ผมขอเรียกว่า นักการเมืองแข่งกันทำความดี (หัวเราะ) เพราะโดยปกติเรามักไม่ค่อยเห็นนักการเมืองออกมาหาผู้คน หรือ ออกมาแสดงอาการอ่อนน้อมถ่อมตนกับประชาชนบ่อยครั้งนักในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แต่ช่วงนี้กลับออกมาหาประชาชนมาก (ลากเสียง) เป็นพิเศษ รวมถึงยังมีทีท่าอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นพิเศษจนกระทั่งอาจทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเกิดความสงสัยในท่าที (หัวเราะ)

ประการที่ 5 มีสัญญาณของการโจมตีและตอบโต้ระหว่างกันของนักการเมืองและกองเชียร์ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องนโยบาย หรือ เรื่องส่วนตัว บนโชเชียลมีเดียมากขึ้น จนกระทั่งดูเหมือนว่าอุณหภูมิทางการเมืองไทยเริ่มจะมีความร้อนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ

ประการที่ 6 วิชามารทางการเมือง อย่างเช่น การปล่อยข่าวลือ ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนต่างๆ เริ่มกลับมาแพร่กระจายในโชเชียลมีเดียมากขึ้น ซึ่งบางครั้งหนักถึงขนาดหลายๆ อย่างถูกบิดเบือนจนกระทั่งยากที่จะแยกระหว่างความจริง หรือ เรื่องโกหก ซึ่งดูเหมือนเรื่องพวกนี้จะกลับมาทุกครั้งในช่วงการเลือกตั้งเนื่องจากเป็นการยาก ที่จะไปกลั่นกรองพิษภัยในโลกโซเชียลมีเดียเหล่านี้ได้ทั้งหมด"

...

อุณหภูมิการเมืองไทยในโลกโชเชียลมีเดีย :

อีกเรื่องที่ผมสังเกตเห็นคือ มีการปล่อย Content ในลักษณะของการล้อเลียน เสียดสีต่างๆ กระจายตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ จนนำไปสู่การจับขั้ว ถกเถียง และตอบโต้กันด้วยอารมณ์และถ้อยคำที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ที ซึ่งเรื่องนี้ในความเห็นผมคิดว่า...เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากๆ เพราะโดยปกติหากคนเชื่อข่าวลือ ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนเหล่านี้ไปแล้ว การจะไปแก้ไขความเชื่อผิดๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากมากๆ เพราะคนเรามักฝังใจกับความเชื่อว่า...มันต้องเป็นแบบนี้ และมักจะมองคนที่เห็นต่างไปจากความเชื่อของตัวเองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม หรือหนักๆ เข้าก็อาจจะมองว่าเป็นผู้ร้ายไปเลยก็มี ทั้งๆ ที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งนาน ซึ่งถือเป็นสัญญาณของอารมณ์ทางการเมืองในแง่ลบบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ไม่ดีเอามากๆ!

ที่ผ่านมา...มีผลสำรวจของ PEW Research Center ในประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า การเสพข่าวการเมืองบนโชเชียลมีเดียมากๆ จะทำให้ผู้คนรู้สึกเบื่อหน่าย Content การเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อปี 2016 ความเบื่อหน่ายของชาวอเมริกันที่มีต่อการเสพข่าวการเมืองอยู่ที่ประมาณ 37% ส่วนความชอบอยู่ที่ประมาณ 20% แต่พอมาปี 2019 ความเบื่อหน่ายการเมืองกลับเพิ่มขึ้นมาถึง 46%! จากการที่เกิดการถกเถียงกันทางการเมืองและเลยเถิดกลายเป็นความบาดหมางระหว่างกันจนถึงขั้น Unfriend Delete กันในที่สุด

...

นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจในสหรัฐฯอีกชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน มากถึงประมาณ 16-17% ที่มองฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นผู้ร้าย และคิดว่าหากจะทำให้ประเทศสงบสุขต้องให้อีกฝ่ายตายไปจากโลกจะได้หมดปัญหา...ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทย!"

อารมณ์ในแง่ลบบนโชเชียลมีเดีย กับ การเลือกตั้งปี 2566 :

"สำหรับการเลือกตั้ง 2566 อารมณ์ในแง่ลบทางการเมืองบนโชเชียลมีเดียมีความแตกต่างจากการเลือกตั้งปี 2562 มากแค่ไหนนั้น...ผมขอตอบแบบนี้แล้วกันนะครับ มันมีข้อมูลชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจคือ...กลุ่มคนที่ชอบโพสต์ข้อมูลทางการเมืองบนโชเชียลมีเดีย มีอยู่เพียงประมาณ 20% เท่านั้น แต่สิ่งที่คนเหล่านี้ทำ กลับไปสร้าง Traffic บนแพลตฟอร์มต่างๆ ได้มากกว่ากันเป็นหลายเท่าตัว อันเป็นผลมาจากคอนเมนต์อันเผ็ดร้อนที่ตอบโต้กันไปมาระหว่างกันนั่นเอง

สำหรับการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน หากลองสังเกตดูจะพบว่าระดับความดุเดือดร้อนแรงจะน้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เพราะในแต่ละกลุ่มการสนทนาจะมีไม่หลากหลายมากนัก บางกลุ่มก็ถือขั้วหนึ่ง บางกลุ่มก็มีจำนวนคนคละกันไปมาบ้าง ทำให้ระดับความร้อนแรงในการตอบโต้กันไม่สูงมากนัก แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ฐานจำนวนผู้ใช้งานโชเชียลมีเดียเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมมาก โอกาสในการตอบโต้ไปมาระหว่างกันย่อมต้องสูงขึ้นอยู่แล้ว

ส่วนมันจะมีผลต่อการเลือกตั้งหรือไม่นั้น....ผมคิดว่ามีส่วนมากทีเดียว เพราะอย่างน้อยๆ ใครเกลียดฝั่งไหน ก็คงไม่เลือกฝั่งนั้นแน่นอน ส่วนมันจะนำไปสู่ความรุนแรงหรือได้หรือไม่ ประเด็นนี้ผมคงตอบไม่ได้ แต่สิ่งที่ผมอยากเตือนประชาชน ก็คือ การบ่มเพาะความรุนแรงผ่านโชเชียลมีเดีย เคยนำไปสู่การก่อจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อปี 2021 มาแล้ว"

วิธีหลบเลี่ยงอารมณ์ลบจากการเสพ Content การเมือง :

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับผม คือ เวลาที่นักการเมืองไปพูดบนเวทีปราศรัยต่างๆ ผมเห็นว่า...ค่อนข้างล่อแหลมต่อการปลุกระดมอารมณ์ผู้คนมากเลยทีเดียว ไม่เพียงเท่านั้นสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตได้อีกอย่างคือ ผู้ใช้งานส่วนหนึ่งยังมักชอบแชร์คำพูดเหล่านั้นลงบนโชเชียลมีเดียด้วย ซึ่งแน่นอนสำหรับฝ่ายเดียวกันก็ไม่เป็นไร แต่หากฝ่ายตรงข้ามไปเห็นเข้า มันก็มักจะทำให้เกิดอารมณ์โกรธตามมาเสมอๆ

ฉะนั้น สิ่งที่ผมอยากแนะนำประชาชนในช่วงนี้ คือ หากเริ่มรู้สึกมีอารมณ์ในทางลบจากการเสพ Content การเมืองมากจนเกินไป ข้อแรกที่ควรทำคือ หนี เมื่อพบ Content การเมือง ที่ทำให้รู้สึกอารมณ์ขุ่นมัวหรือถึงขั้นโกรธ ด้วยการออกจากแหล่ง Content นั้นในทันทีหรือลบ Content นั้นออกไปและหันไปหา Content อื่นๆ ที่สร้างความบันเทิง หรือ กีฬา แทน

ข้อที่สอง หยุด เมื่อพบ Content การเมือง ที่แสดงถึงความไม่ประสีประสาหรือความไร้ภูมิของผู้โพสต์ ให้หยุดคิดและไตร่ตรอง อย่าเพิ่งรีบร้อนตอบโต้หรือแก้ไข เพราะเราอาจแปลความหมายในสิ่งที่เห็นไม่ตรงกับเจตนาของผู้โพสต์ก็เป็นได้

ข้อที่สาม ขอโทษ โลกโชเชียลมีเดียไม่มีเกราะป้องกันภัย ฉะนั้นไม่ว่าใครก็ตามอาจถูกคุกคามจากตัวตนที่มองไม่เห็นได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ การสูญเสียความยับยั้งชั่งใจบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์อาจทำให้เราอยู่ในสถานะเป็นผู้คุกคามหรือพาดพิงบุคคลอื่นในทางการเมืองเสียเองโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว การแสดงการขอโทษต่อบุคคลผ่านสาธารณะ จึงเป็นทางออกที่ดีเสมอในการยุติความขัดแย้งบนโชเชียลมีเดีย" อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ปิดท้ายการสนทนา กับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์"

อ่านบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง :