หลังพ้นจากวิกฤติโควิด-19 ต้องลดหนี้ไม่ใช่เพิ่มหนี้ และควรต้องบอกกับประชาชนให้ชัดเจนว่า นโยบายที่ต้องใช้เงินจำนวนมากๆ เอาเงินมาจากไหนหรือมีอะไรต้องแลกเปลี่ยน...

“หลังการเลือกตั้งพรรคที่ได้จัดตั้งรัฐบาลจะจัดสวัสดิการอะไร และจะหาเงินมาจากที่ไหน เพื่อทำให้สิ่งนั้นเป็นจริง มันถึงจะเป็นข้อมูลที่ครบทั้งสองด้าน” ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI เกริ่นนำการสนทนากับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ในประเด็นที่ “ดร.สมเกียรติ” ขอเรียกว่า "นโยบายหาเสียงที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก" กับความเสี่ยงที่มีต่อภาระการคลังประเทศไทย ในแบบมุมมองที่รอบด้าน ซึ่งมาพร้อมกับข้อเสนอแนะที่ว่า หลังวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทย “ควรหาทางลดหนี้ให้เหมาะสมไม่ใช่การเพิ่มหนี้”

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI

...

ความเสี่ยงที่จะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโลก :

“ปัจจุบันต้องยอมรับว่า มีความไม่แน่นอนสูงมาก ทั้งในเรื่องการเมืองและการเงิน สำหรับการเมืองแน่นอน คือ เรื่องสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน อันเป็นผลมาจากการที่ประธานาธิบดี "ไช่ อิง เหวิน" ของไต้หวัน เดินทางไปพบกับ "เควิน แมคคาร์ธี" ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จนส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนตกต่ำลงไปมากขึ้นอีก

ส่วนในภาคการเงินนั้น ธนาคารขนาดใหญ่ต่างๆ ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป กำลังตกอยู่ภายใต้คำถามสำคัญที่ว่า มีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน หลังความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนเริ่มลดต่ำลง ซึ่งเอาละแม้ ณ เวลานี้ ปัญหาอาจดูเหมือนเงียบลงไป แต่เรื่องพวกนี้คงไม่มีใครตอบได้ว่ามันสงบลงจริงหรือไม่ เพราะข้อมูลมันกระจัดกระจายเสียจนกระทั่งไม่มีใครสามารถมองเห็นภาพรวมได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ดีหากปัญหาเรื่องภาคการธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรปมีระดับความรุนแรงสูง จู่ๆ มันก็จะโผล่ขึ้นมาได้อีก แล้วเราก็อาจจะกลับมาตกใจกันอีกครั้ง เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ และนี่คือ...ความเสี่ยงที่แอบแฝงอยู่”

วิกฤติเศรษฐกิจ กับ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย :

“คงไม่มีใครสามารถตอบได้ครับ...เพราะความยาก คือ แม้เราจะรู้ว่ามีความเสี่ยงอยู่ มีความเปราะบางอยู่ แต่คงไม่มีใครสามารถจะบอกได้ว่า จะเกิดเหตุการณ์อะไรที่รุนแรงเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติการเงิน หรืออะไรต่างๆ ฉะนั้นสิ่งเดียวที่ทำได้ คือ เมื่อมีทั้งความเสี่ยงและความเปราะบาง เราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดสำหรับการรับมือ เพื่อให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด”

เศรษฐกิจไทย กับการฟื้นตัว :

“เศรษฐกิจไทย ณ เวลานี้ ไม่ได้มีปัญหาถึงขั้นวิกฤติอะไร และเป็นเศรษฐกิจที่สามารถเดินหน้าต่อไปได้และกำลังฟื้นตัวหลังปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งถึงแม้อาจจะฟื้นตัวช้า แต่ว่าในปีนี้ถ้าสถานการณ์ไม่ได้แย่มากจนเกินไป ก็น่าจะกลับไปอยู่ในตำแหน่งเหมือนช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ได้แล้ว ในเรื่องของการขยายตัวของตัวเลข GDP

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ใช้ระยะเวลาเนิ่นนานขนาดนี้ ย่อมเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นได้ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอมากในช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จาก 5 ปีหลังสุดนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่เฉลี่ยปีละประมาณ 1% กว่าๆเท่านั้น ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าบรรดาเพื่อนบ้านในอาเซียนค่อนข้างมาก

ฉะนั้น เรื่องนี้จึงถือเป็นการบ้านที่ท้าทายสำหรับพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังหาเสียงในเวลานี้มากๆ ว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งความเข้มแข็งในที่นี้หมายถึง ธุรกิจต้องเก่งขึ้นและคนไทยต้องเก่งขึ้น จึงจะสามารถอยู่รอดได้ในโลกที่มันอยู่ยากขึ้นแบบนี้”

...

นโยบายหาเสียงพรรคการเมืองไทย :

“หากจะว่ากันตามจริง...ก็มีหลายพรรคการเมืองที่มีนโยบายตอบโจทย์ที่ว่านั้นอยู่นะครับ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาธุรกิจ SME หรือ การยกระดับปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้ประชาชนมีทักษะดีขึ้น ทำงานเก่งขึ้น พึ่งตัวเองได้มากขึ้น

เพียงแต่ว่า...น้ำหนักของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังคงเน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ในลักษณะการให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็น การให้เงินสด หรือสวัสดิการต่างๆ ซึ่งเอาละ!...บางเรื่องก็อาจมีความจำเป็นต้องทำ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องดูด้วยว่าเม็ดเงินที่จะใช้ มันเกินตัวที่เศรษฐกิจไทยจะสามารถแบกรับได้หรือเปล่า...ถ้ามันเกินตัว มันเป็นภาระทางการคลัง หรือหมายถึงเกินฐานะที่จะทำได้ มันจะมีความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น...กรณีที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ จนเป็นผลให้อดีตนายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง อันเป็นผลมาจากการทำนโยบายใช้เงินเกินตัว แล้วไม่สามารถอธิบายได้ว่าจะนำเงินมาจากไหน...เพราะภาษีก็จะไม่ได้เก็บเพิ่ม จนเป็นผลให้บรรดาเครดิตเรตติ้งเอเจนซี นักลงทุน ต่างเกิดความหวาดกลัวว่า หากให้รัฐบาลอังกฤษกู้เงินไปแล้วจะไม่ได้เงินคืน หรือหากไปลงทุนในอังกฤษแล้ว ถ้ามันเกิดวิกฤติการคลังขึ้น ก็จะเกิดความเสียหาย จนสร้างความแตกตื่นและสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาไปทั่ว

...

เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองต่างๆ ในประเทศไทย จึงไม่ควรประมาทกับเรื่องทำนองนี้ เพราะหากใครจำได้ประเทศไทยเคยต้องเผชิญกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวนมากมาแล้ว เมื่อปี 2540 และแม้ปัจจุบันเราจะค่อยๆ สร้างให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเข้มแข็งได้พอสมควร แต่ถ้าหากเราไม่ระมัดระวังตัวมันก็อาจจะถูกลากกลับไปอยู่ในจุดที่มีความเสี่ยงได้”

นโยบายหาเสียง กับที่มาของรายได้ :

“เท่าที่เห็นมาจนถึงวันนี้ ก็เห็นพรรคก้าวไกลที่ออกมาพูดชัดว่า...จะหารายได้มาจากไหน ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่ก็ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่ เช่น กรณีจะตัดงบประมาณกองทัพ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องพบกับแรงต่อต้านพอสมควร

ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ ตามกติกาแล้ว ก็คงต้องบอกด้วยว่า...จะเอาเงินมาจากไหน เพราะเป็นกฎหมายพรรคการเมือง ที่เวลาเลือกตั้งจะต้องยื่นรายละเอียดให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ว่ามีนโยบายอะไรและใช้เงินเท่าไร และจะหาเงินมาจากไหน

แต่ว่าลำพังเพียงยื่น กกต. อย่างเดียวน่าจะไม่เพียงพอ เพราะควรจะต้องมีการแถลงอย่างเป็นทางการให้ประชาชนได้รับทราบในระหว่างการหาเสียงด้วย เพราะการหาเสียงก็คือ...การบอกว่าประชาชนได้อะไร แต่การทำแบบนั้นคงจะต้องบอกด้วยว่า ประชาชนจะต้องเอาอะไรไปแลกด้วย เช่น ถ้าจะต้องขึ้นภาษีเพื่อเอาไปช่วยสวัสดิการ ประชาชนก็จะได้รู้และตัดสินใจได้ เพราะถ้าไม่ได้บอกก็เหมือนกับ ไม่ได้บอกความจริงทั้งหมด ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการดำเนินการที่ไม่มีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่

...

เพราะการไม่บอกว่าจะเอาเงินมาจากไหน?...มันก็ไม่ต่างอะไรกับเวลาที่ไปซื้อของในห้างสรรพสินค้าแล้วได้เจอของที่ต้องการ แต่กลับไม่รู้ราคา ซึ่งหากเป็นแบบนั้น...มันก็คงไม่ค่อยยุติธรรมสำหรับประชาชนที่ต้องตัดสินใจสักเท่าไร?”

นโยบายหาเสียงที่ต้องใช้เงินจำนวนมากๆ คำถามที่พรรคการเมืองต้องตอบ :

“ผมขออธิบายแบบนี้ครับ...สำหรับประเทศไทยมีงบประมาณประจำปี ที่หักรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการอะไรต่างๆ เหลืออยู่แต่ละปีประมาณเพียงแค่ 8 แสนล้านบาท แล้วถ้าเกิดพรรคการเมืองหาเสียงโดยมีนโยบายที่ต้องใช้เงินจำนวนมากๆ ยกตัวอย่างเช่น นโยบายเบี้ยผู้สูงอายุอย่างเดียว โดยการให้เงินคนละ 3,000 บาทต่อเดือน มันก็จะเท่ากับใช้เงินไปรวมกันมากกว่า 5 แสนล้านบาทแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า...มันจะไม่มีเงินเหลือเอาไปทำอย่างอื่น ซึ่งหากอยากจะไปทำอย่างอื่นก็ต้องแย่งกัน...ทีนี้พรรคการเมืองต่างๆ จะทำกันอย่างไร?

ซึ่งในฐานะที่ผมติดตามประเด็นเหล่านี้มา ก็อยากจะทราบเหมือนกันว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะมีคำตอบในเรื่องนี้อย่างไร? ผมเองอยากยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพง่ายๆ แบบนี้ครับ...ถ้าประเทศเราเปรียบเป็นครอบครัวแล้วครอบครัวมีรายได้เท่านี้ แล้วถ้าวันหนึ่งเกิดเราจะไปซื้อบ้านเพราะมันสำคัญ คำถามที่ตามมาคือเรายังจะมีเงินพอที่จะไปซื้อรถยนต์อยู่ไหม หรือเรายังจะมีเงินส่งลูกไปโรงเรียนอยู่หรือเปล่า? ซึ่งคำถามเหล่านี้ต้องคิดให้ครบถ้วน!”

หนี้สาธารณะของประเทศไทย กับของฟรีไม่มีในโลก :

“ตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยยังไม่สูง อันนี้เป็นเรื่องจริง แต่ว่าถ้าคุณสร้างหนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อเอามาทำสวัสดิการอะไรก็แล้วแต่ โดยที่คุณไม่มีแหล่งรายได้ที่ชัดเจน และสมมติว่าเพิ่มหนี้เข้าไปปีละ 5% 10% ของ GDP เมื่อเวลาผ่านไปตัวเลขหนี้สาธารณะก็จะสูงขึ้นๆ แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่ง พวกที่เขาปล่อยเงินกู้ให้เรา หรือคนที่มาลงทุนในประเทศไทยอะไรต่างๆ เขาก็จะตกใจว่า...ประเทศนี้รัฐบาลถังแตก!

และถ้ามันถึงจุดนั้นมันจะแก้ไขปัญหาได้ยาก ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ประเทศศรีลังกาที่มีการทำโครงการขนาดใหญ่เกินตัว จนประเทศล้มละลาย ซึ่งเราคงไม่อยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบนั้น

ฉะนั้น หากจะเป็นประเทศที่ให้สวัสดิการก็จะต้องเก็บภาษีเพิ่ม เพราะหากลองไปดูประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เช่น เดนมาร์ก สวีเดน ก็จะเห็นได้ว่ามีการเก็บภาษีที่สูงกว่าประเทศไทย เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า...ของฟรีไม่มีในโลก!

ด้วยเหตุนี้...ถ้าเราอยากให้สวัสดิการคนไทยเยอะ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องดี เป็นประโยชน์ แต่มันก็ต้องมีผู้ที่แบกรับต้นทุนนี้ด้วย ทีนี้ในทางการเมืองคนพวกนี้จะเป็นใครก็ต้องระบุกันออกมา ก็คือต้องบอกว่านโยบายนี้จะเก็บภาษีจากใคร จะเอาภาษีคนทำงานกินเงินเดือน ปัจจุบันมนุษย์เงินเดือนก็โดนภาษีกันหนักอยู่แล้ว หรือจะไปเอาภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง หรือภาษีมรดก ซึ่งอาจจะช่วยความเป็นธรรมได้บ้างแต่ก็อาจจะจัดเก็บไม่ได้มากนัก หรือถ้าจะจัดเก็บภาษีได้มากๆ ก็ต้องไปขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าไปขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม คนซื้อของหรือผู้บริโภคก็จะเดือดร้อนกัน ซึ่งทั้งหมดนี้คือคำตอบที่ชัดเจนว่า ของฟรีไม่มีในโลกนั่นเอง!”

หลังโควิด-19 ต้องลดหนี้ ไม่ใช่เพิ่มหนี้ :

“นโยบายต่างๆ ของพรรคการเมือง ส่วนหนึ่งก็ย่อมต้องถูกคิดโดยทีมนโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งรวมถึงทีมเศรษฐกิจด้วย เพราะฉะนั้น ทีมเศรษฐกิจย่อมไม่ได้เป็นอิสระจากพรรคการเมืองอยู่แล้ว และเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองและร่วมคิดนโยบายมา

ทีนี้ประเด็นสำคัญ คือ หลายพรรคการเมืองหาเสียงด้วยนโยบายที่ใช้เงินจำนวนมากๆ ซึ่งพอตั้งรัฐบาลขึ้นมา ถ้าจะทำให้แต่ละพรรคการเมืองที่หาเสียงกับประชาชนมา ไม่ผิดสัญญากับประชาชนที่เลือกมา ก็แปลว่าต้องทำหลายนโยบายที่ต้องใช้เงินเยอะ มันก็จะมาถึงจุดที่ว่า งบประมาณที่มีอยู่ทุกวันนี้ ที่ได้จากการจัดเก็บภาษี ณ ปัจจุบัน มันมีไม่พอ คำถามก็คือ...แล้วจะทำกันอย่างไรต่อ?

มันก็คือ...หนึ่งอาจจะทำตามสัญญาที่ให้กับประชาชนได้ไม่ทั้งหมด เพราะว่ามันเงินไม่พอ ก็ต้องตัดลดลงมา เกลี่ยกันไปเกลี่ยกันมา หรือสองมันก็ต้องขึ้นภาษี ซึ่งมันก็มีทางออกเพียงแค่นี้

เพราะทางเลือกที่สามคือการสร้างหนี้ ทำได้ไม่นานมันก็จะเดือดร้อนกัน และถ้ามันเกิดภาวะวิกฤติที่มาจากภายนอก แล้วมันจำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่ม หรือติดหนี้เพิ่ม เช่น เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมา แบบนี้มันช่วยไม่ได้ มันก็ต้องทำใจ ก็แปลว่าเมื่อโควิดผ่านไป มันก็ต้องหาวิธีลดระดับหนี้ลงมาให้มันเหมาะสมไม่ใช่ไปเพิ่ม!” ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ปิดท้ายการสนทนากับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง :