ไทยรัฐออนไลน์
"นักเจ็ตสกีสุดช้ำ" คำตอบ "กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ" ที่ตัดเงินทีมชาติคว้าที่ 1 โลก แข่งชิงแชมป์โลกสหรัฐฯ
วันที่ 16 ก.ค. 66 สืบเนื่องจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ตอบหนังสือตัดเงินรางวัลนักเจ็ตสกีทีมชาติไทย ชุดคว้าอันดับ 1 ของโลก ที่สหรัฐฯ ปี 2022 ซึ่งเป็นการตัดเงินรางวัลนักกีฬาทีมชาติไทยครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยมีเหตุผลว่า สมาคมเจ็ตสกีนานาชาติ IJSBA, สหรัฐอเมริกา ไม่ได้เป็นสมาชิกของ GAISF ซึ่งมีบุคคลซึ่งผู้จัดการกองทุนรู้จักดี นั่งตำแหน่งสำคัญ ด้านนายกสมาคมเจ็ตสกีฯ ชี้ว่าจะส่งผลให้นักกีฬารู้สึกว่าองค์กรกีฬาชาติทอดทิ้ง เพราะข้อเท็จจริงค่าใช้จ่ายในการไปแข่งขันสูงกว่าหลายเท่าตัว โดยนักเจ็ตสกีสุดกังขาว่า IJSBA เป็นองค์กรโลกโดยตรงของกีฬานี้อยู่ภายใต้กฎหมายสหรัฐอเมริกา รวมถึงเป็นองค์กรที่ให้การรับรองกีฬาเจ็ตสกีในมหกรรมเอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ ฯลฯ นานกว่า 15 ปี ทำไมกองทุนฯ เตรียมนำคณะนักกีฬาเข้าพบผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ นายสนิท วรปัญญา นายกสมาคมกีฬาเจ็ตสกีแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "ตอนนี้มีเรื่องที่ทำให้นักกีฬาเจ็ตสกีทีมชาติไทยรู้สึกเสียกำลังใจมาก โดยเฉพาะนักเจ็ตสกีทีมชาติไทยชุดคว้าอันดับที่ 1 ของโลก World Finals 2022 ที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นความสำเร็จครั้งแรกในรอบประวัติศาสตร์ 40 ปี โดยล่าสุดมีหนังสือจากผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ คุณสุปราณี คุปตาสา ว่าไม่สามารถให้เงินรางวัลแก่นักกีฬาได้ จากเหตุผลที่สมาคมเจ็ตสกีนานาชาติ IJSBA, สหรัฐอเมริกา ไม่ได้เป็นสมาชิกของ GAISF"
"ข้อเท็จจริงคือ สมาคมเจ็ตสกีนานาชาติ IJSBA เป็นองค์กรตามกฎหมาย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีบทบาทเป็นองค์กรโลกสำหรับกีฬาเจ็ตสกีมากว่า 40 ปีแล้ว และทัวร์นาเมนต์ World Finals ก็เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการแข่งขันกีฬาเจ็ตสกีโลกมาโดยตลอด อีกทั้ง IJSBA องค์กรเดี่ยวกันนี้ก็เป็นองค์กรที่ให้การรับรองการแข่งขันกีฬาเจ็ตสกี แก่มหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ ฯลฯ มานานกว่า 15 ปีแล้ว ดังนั้นเพราะเหตุใดจึงมีบรรทัดฐานออกมาเช่นนี้"
"ยิ่งผมทราบว่าองค์กร GAISF มีบุคคลที่ผู้จัดการกองทุนรู้จักเป็นอย่างดี มีตำแหน่งสำคัญ และไม่ได้มีบทบาทโดยตรงกับกีฬาเจ็ตสกีใดๆ จึงเกิดความสงสัยว่าหน้าที่ของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติคืออะไร เพราะวันนี้ไทยมีผลงานนักกีฬาเป็นที่ 1 ของโลก ตัวชี้วัดนี้ไม่ชัดเจนอย่างไร"
"หากไม่รีบแก้ไข เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคงไม่มีนักกีฬาคนไหนอยากไปแข่งขันอีกแล้ว ถือว่าเป็นการทำลายความสำเร็จกีฬาชาติ เพราะความจริงที่น่าเห็นใจที่สุดก็คือนักกีฬา มีค่าใช้จ่ายไปแข่งขันนั้นสูงมากกว่า 1 ล้านบาทต่อคน ทั้งเรือ การขนส่ง การเดินทาง ที่พัก อาหาร ฯลฯ การที่นักกีฬาได้สินน้ำใจจากข้อกำหนดเงินรางวัลชาติ 50,000-200,000 บาท จึงมีคุณค่าทางจิตใจต่อการเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง"
"ยังมีอีกส่วนงานหนึ่งคือ ฝ่ายกีฬาเป็นเลิศ การกีฬาแห่งประเทศไทย รองผู้ว่าการฯ นายประชุม บุญเทียม เคยนัดนักกีฬาทั้งหมดเข้าพบและแจ้งว่าจะแก้ปัญหาให้เรื่องงบประมาณส่งแข่งขันรายการนี้ที่ฝ่ายทำตกหล่นไปเอง และถูกตัดเป็นศูนย์ นักกีฬาต้องออกเงินไปกันก่อน หลังจากนั้นก็แข่งซีเกมส์ นักเจ็ตสกีทีมชาติไทยคว้า 4 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง เป็นหนึ่งในกีฬาที่ช่วยกันสร้างผลงานชาติอย่างโดดเด่น เมื่อแข่งเสร็จ สมาคมฯ ได้ติดตามนัดเพื่อหาข้อสรุปเรื่องดังกล่าวจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จึงอยากถามว่าท่านเห็นความสำคัญของนักกีฬาจริงหรือไม่ หรือเมื่อสร้างผลงานเสร็จแล้วก็จะเป็นเช่นนี้"
"ย้อนกลับไปปีที่แล้ว เมื่อนักกีฬาคว้า 14 แชมป์โลก สร้างผลงานเป็นที่ 1 ของโลก ทั้งผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย และผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ก็ไปร่วมทำข่าวต้อนรับนักกีฬา และความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่สมาคมฯ เตรียมพาคณะนักกีฬาทั้งหมดเข้าพบผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อยืนหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อพิจารณาเร่งด่วน เพราะการทำเช่นนี้เป็นการทำลายผลงานกีฬาชาติอย่างชัดเจน".