หน้าแรกแกลเลอรี่

มาแล้ว "สส.พรรคประชาชน" เคลื่อนไหวเดือด หลัง ส.บอล แพ้คดีต้องจ่ายเงิน 360 ล้านบาท

ไทยรัฐออนไลน์

19 มี.ค. 2568 14:07 น.

"ปั๋น" ชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สส. พรรคประชาชน ชำแหละเดือด สมาคมฟุตบอลแพ้คดีสยามสปอร์ต ต้องจ่าย 360 ล้านบาท

วันที่ 19 มีนาคม 2568 จากกรณีคดีพิพาทระหว่าง สยามสปอร์ต กับ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้บทสรุปว่า สมาคมฯ จะต้องจ่ายเงินพร้อมดอกเบี้ยให้ สยามสปอร์ต 360 ล้านบาท หลังมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นตั้งแต่ยุค "บิ๊กอ๊อด" พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง เป็นนายกสมาคมฯ แต่มามีคำพิพากษาในยุคของ "มาดามแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซำ ที่เพิ่งทำงานในฐานะนายกสมาคมฯ ครบ 1 ปีไปไม่นานนี้

ซึ่ง "มาดามแป้ง" เตรียมฟ้องไล่เบี้ยอดีตนายกสมาคมรายนี้ทันที ซึ่ง "บิ๊กอ๊อด" ยืนยันชัดว่าพร้อมสู้คดีในชั้นศาล โดยตนมองว่าตนทำทุกอย่างเพื่อสมาคมกีฬาฟุตบอล

ล่าสุด "ปั๋น" ชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สส.เชียงราย เขต 1 พรรคประชาชน ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานในวงการฟุตบอลไทย ชำแหละข้อมูลหนี้สินก้อนมหึมาของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ย้อนไล่กลับไปได้ตั้งแต่ช่วงปี 2550 เป็นต้นมา และไล่สะสมมาเรื่อยๆ จากการบริหารของนายกสมาคมฯ คนก่อนๆ

ในยุค วรวีร์ มะกูดี (2550-2558) จากการค้างชำระภาษีอากรและเบี้ยปรับที่ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงปี 2550-2555 เนื่องจากสมาคมฯ มีรายรับจากการให้บริการกับผู้ให้การสนับสนุนตามสัญญาต่างตอบแทน ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มรวมทั้งสิ้น 412 ล้านบาท ทำให้ต้องเสียภาษีอากร รวมทั้งสิ้น 28 ล้านบาท แต่นายกสมาคมฯ ในเวลานั้นละเลยการทำหน้าที่ ทำให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยเกิดความเสียหายต้องชำระค่าเบี้ยปรับ จำนวน 57 ล้านบาท และชำระเงินเพิ่มจำนวน 27 ล้านบาท รวมความเสียหายทั้งสิ้น 84 ล้านบาท

ในยุค พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง (2559 - 2567) ในปี 2559 ได้ดำเนินการชำระค่าภาษีอากรรวม 28 ล้านบาท และแจ้งคำร้องของดและหรือลดเบี้ยปรับ และได้รับการยกเว้นค่าเบี้ยปรับจำนวน 57 ล้านบาท

ซึ่งดูเหมือนจะเคลียร์ปัญหาไปได้เปลาะหนึ่ง แต่อยู่ๆ พล.ต.อ.สมยศ ก็ได้ทำการยกเลิกสัญญากับสยามสปอร์ตก่อนกำหนด ทั้งที่เหลือสัญญาอีก 1 ปีครึ่ง ทำให้ถูกสยามสปอร์ตฟ้องร้องและล่าสุดศาลสั่งให้ชดใช้เป็นมูลค่ากว่า 360 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็ทำการเซ็นสัญญากับ Plan B เป็นระยะเวลา 8 ปี (2564-2571) โดยเป็นภาระผูกพันและจำยอมข้ามวาระของตนเองส่งต่อมาถึงนายกสมาคมฯ คนต่อไป

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 พล.ต.อ.สมยศ ได้กู้ยืมเงินจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) จำนวน 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 155 ล้านบาท) โดยกำหนดให้มีการชำระคืนเงินกู้ดังกล่าวโดยหักจากเงินสนับสนุนประจำปีที่สมาคมฯ ควรได้รับจากฟีฟ่าปีละ 500,000 เหรียญสหรัฐฯ เป็นระยะเวลา 10 ปีตั้งแต่ปี 2566 ถึง 2575

ภาระหนี้สินถูกส่งต่อมายังยุค “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ (2567 - ปัจจุบัน) เมื่อมาดามแป้งเข้ารับตำแหน่งก่อนที่จะมีคำตัดสินคดีพิพาทกับสยามกีฬา สมาคมฯ มีเงินสดและทรัพย์สินรวม 27 ล้านบาท หนี้สินกว่า 130 ล้านบาท รวมมีหนี้ 105 ล้านบาท

แต่หลังจากคดีพิพาทกับสยามกีฬายุติลง สมาคมฯ ต้องชดใช้หนี้ราว 360 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับดอกเบี้ยมีหนี้รวมกว่า 660 กว่าล้านบาท จนเป็นที่มาของหนี้สินก้อนใหญ่ที่กลายเป็นภาระของสมาคมฯ และนายกคนปัจจุบันต้องมาตามเช็ดตามล้างอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวในวันนี้

[ แพทเทิร์นปัญหาเดิมๆ ทำสัญญาที่สมาคมฯ เสียเปรียบ? ]

แต่หากย้อนไปถึงกรณีสยามสปอร์ต ก็จะเห็นได้ว่าปัญหานี้เกิดขึ้นจากยุคของ วรวีร์ มะกูดี ที่ได้เซ็นสัญญากับสยามสปอร์ตในระยะยาวและผูกพันข้ามวาระมาจนถึงยุคของ พล.ต.อ.สมยศ เช่นกัน ภายใต้สภาพสัญญาที่มองได้ว่าสมาคมฯ เสียเปรียบเอกชนเต็มๆ

ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งสองกรณีของ 2 นายกสมาคมฯ ที่ทำสัญญากับ 2 บริษัทเอกชน มีรูปแบบคล้ายคลึงกันคือเป็นการทำสัญญาที่สมาคมดูจะเสียเปรียบและเสียประโยชน์ มีลักษณะผูกพันข้ามวาระของตัวเองไปนาน เสมือนว่าต้องการให้เอกชนบางรายได้ผลประโยชน์เต็มๆ

ที่น่าสนใจคือตั้งแต่ปี 2562-2567 งบประมาณจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มีการจ้างทำของ จ้างเหมาบริการ รวมถึงการเช่าบริษัท Plan B รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 978 ล้านบาท แบ่งเป็น:
การจัดจ้างในการจ้างเหมาจัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์ 350 ล้านบาท
การจัดจ้างเกี่ยวกับสมาคมฟุตบอล 22 ล้านบาท
การจัดจ้างเกี่ยวกับการถ่ายทอดสด 629 ล้านบาท

ซึ่งตั้งข้อสังเกตได้ว่างบประมาณเหล่านี้ที่ผ่านมาได้สร้างมูลค่าและพัฒนาวงการกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด หรือเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งจนเกินสมควรหรือไม่?

[ Data Analytic อยู่ในมือของใคร? ]

อีกหนึ่งประเด็นที่น่ากังวลคือ Data Analysis ซึ่งเป็นมูลค่าสำคัญของสมาคมฯ ถูกขายออกไปถาวร โดยไม่ทราบว่าขายไปในราคาเท่าไหร่

การใช้ Data Analytics ที่ช่วยพัฒนาฟุตบอลให้เป็นระบบ ลดความเสี่ยง และเปิดโอกาสให้ทุกทีมสร้างความได้เปรียบโดยไม่ต้องอาศัยทุนมหาศาลเพียงอย่างเดียว แม้จะมีการจัดเก็บโดยบริษัทเอกชนอื่นๆ ที่ถูกใช้กันอย่างเเพร่หลายในโลกฟุตบอลอยู่เเล้ว แต่ก็มีค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงข้อมูลที่ค่อนข้างสูง ทำให้ทีมในไทยลีกหลายทีมไม่ได้ใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการพัฒนาทีม

หากสมาคมฯ มีการจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้อยู่เเล้ว ทีมในไทยลีกควรได้สิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ เพื่อพัฒนานักกีฬาและวงการฟุตบอลไทย แต่ที่ผ่านมามีข่าวลือหนาหูว่าข้อมูลเหล่านี้กลับถูกขายไปให้กับเว็บไซต์การพนันและประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่เเข่ง จนส่งผลกระทบต่อรายได้และการบริหารจัดการในปัจจุบันด้วย

[ วงการฟุตบอลไทย แหล่งเงินก้อนใหญ่ใต้เงาฝ่ายการเมือง ]

ที่มาของปัญหาทั้งหมดนั้น อาจกล่าวได้ว่ามาจากการที่วงการฟุตบอลไทยมีเงินหมุนเวียนมหาศาลจาก สิทธิประโยชน์, ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด, สปอนเซอร์ และรายได้จากสโมสร ซึ่งที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตกันมาตลอดว่ามีการใช้วงการฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการระดมทุนสนับสนุนกลุ่มการเมืองบางกลุ่มหรือไม่?

โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงนายกสมาคมฯ หรือในช่วงเลือกตั้งระดับประเทศ ที่มักเกิดปรากฏการณ์ที่สมาคมฯ จับมือกับบริษัทเอกชนในการแสวงหาสิทธิประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมามีกรณีบริษัทเอกชนบางกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองบางกลุ่มทางภาคอีสานใต้ได้บริหารสิทธิประโยชน์เหล่านี้ ท่ามกลางสัญญาณความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็น:
๐ มีการเปลี่ยนแปลงสัญญาสิทธิประโยชน์หรือสปอนเซอร์ทันทีหลังเปลี่ยนนายกสมาคมฯ
๐ บริษัทที่ได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดมีความเชื่อมโยงกับนักการเมือง
๐ เงินหมุนเวียนในสมาคมไม่มีความโปร่งใส
๐ เจ้าของสโมสรฟุตบอลบางแห่งมีบทบาทในการเลือกตั้งระดับประเทศหรือท้องถิ่น
๐ นักการเมืองเข้าไปมีบทบาทในสมาคมหรือวงการฟุตบอลไทยมากเกินกว่ามืออาชีพในวงการฟุตบอลด้วยกันเอง

[ เช็ดแล้วต้องเช็ดให้เกลี้ยง ]

การออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงบางส่วนของความเน่าเฟะภายใต้สมาคมฟุตบอลฯ โดยมาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมฟุตบอลไทยคนปัจจุบัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หลังจากที่วงการฟุตบอลไทยตกอยู่ภายใต้เงาดำมืดและเรื่องราวที่ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึงมานาน

ที่ผ่านมาสมาคมฯ ภายใต้การบริหารของนายกคนก่อนๆ เต็มไปด้วยข้อน่าสงสัยและน่าตั้งข้อสังเกต ทั้งการทำสัญญาที่วงการฟุตบอลต้องเสียประโยชน์ การนำพาสมาคมฯ ไปอยู่ใต้เงากลุ่มการเมือง ปล่อยให้มาแสวงหาผลประโยชน์ ส่งอิทธิพลมาทำสัญญาแล้วผันเงินเข้ากระเป๋าตัวเองเพื่อไปทำการเมืองต่อ

เมื่อมาดามแป้งส่งสัญญาณการเก็บกวาดบ้านและเช็ดล้างคราบไคลที่ฝังรากลึกมานานในสมาคมออกมาแบบนี้แล้ว เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่ามาดามแป้งจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการเช็ดให้เกลี้ยง เคลียร์ปัญหาในอดีต นำบทเรียนจากนายกคนก่อนมาระมัดระวังในการบริหาร และเดินหน้าสร้างสมาคมฯ ให้ได้เป็นที่พึ่งหวังของสโมสร ของนักกีฬา และของพี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง