หน้าแรกแกลเลอรี่

อินไซด์ฟุตซอลเวิลด์คัพ... ลิทัวเนีย (1)

บี บางปะกง

13 ก.ย. 2564 06:20 น.

ผมออกเดินทางอีกครั้งหนึ่ง กับทีมฟุตซอลทีมชาติไทย ที่มาเข้าร่วมแข่งขันฟีฟ่า ฟุตซอลเวิลด์คัพ ลิทัวเนีย 2021 ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 6 ติดต่อกันของทีมฟุตซอลไทย ที่สามารถผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือก จนได้เป็นตัวแทนทวีปเอเชียมาได้โดยตลอด ภายใต้การนำทีมของ คุณป๋อม - อดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ (ขออนุญาตเรียกคุณป๋อมว่า Father of Futsal in Thailand นะครับ) โดยมีคุณ สุทิน บัวตูม เป็นผู้จัดการทีมที่ขยันขันแข็ง พร้อมทีมงานอีกหลายท่าน รวมทั้งอุปนายกสมาคมกีฬาฟุตบอล คุณลัขณานันท์ ลักษมีธนานันต์ ที่มาช่วยกันดูแลสารทุกข์สุขดิบของทุกๆ ชีวิตที่มาทำหน้าที่ในนามประเทศไทย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีความสำคัญที่สุดของทีม คือนักฟุตซอลทีมชาติไทย ทั้ง 16 คน (ขออนุญาตเรียกว่าเป็น "พระเอกของเรื่อง" นะครับ) ให้อยู่ดีกินดีมีความสะดวกสบายในความเป็นอยู่ ทั้งการกินอยู่ นอนหลับพักผ่อนตลอดจน การฝึกซ้อมและการแข่งขัน เพื่อให้ "พระเอก" ของเรา มีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ให้พร้อมที่สุดที่จะเข้าแข่งขันต่อสู้กับทีมระดับโลก

ผมเองมาทำหน้าที่แพทย์ประจำทีม และแน่นอนในช่วงโควิด-19 มีการระบาดไปทั่วโลก ฟีฟ่าได้มอบหมายให้แพทย์ประจำทีมทำหน้าที่เป็น MLO (Medical Liaison Officer) โดยมีหน้าที่เหมือนในโตเกียว โอลิมปิก 2020 ที่ผมเป็น CLO (COVID-19 Liaison Officer) โดยมีหน้าที่ทำให้นักฟุตซอล และคนอื่นๆ ในทีมที่ไปเข้าร่วมการแข่งขัน ให้ปฏิบัติตามแนวทางเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโควิด ที่ฟีฟ่าได้กำหนดเป็นหลักการไว้ให้เจ้าภาพ "ลิทัวเนีย" และกระทรวงสาธารณสุขของลิทัวเนีย พิจารณากำหนดมาตรการในช่วงการแข่งขัน ให้เกิดความปลอดภัยที่สุด แก่นักกีฬาและ จนท.ทีมทุกคน รวมทั้งทุกคนจากทุกชาติที่เข้าแข่งขัน ก็ไม่นำเอาเชื้อโควิด-19 มาสู่ลิทัวเนียด้วยเช่นกัน ซึ่งจะต้องมีการตรวจ PCR Test ในช่วงที่มาถึง และก่อนที่มีการแข่งขัน

การเดินทางที่ฟีฟ่าเป็นผู้เลือกให้เรา ถือว่าไม่สะดวกสบายเท่าที่ควรจะเป็น เพราะเราออกจากสุวรรณภูมิโดยสวิสแอร์ ใช้เวลา 11 ชม. ถึงซูริก ต่อเครื่องสวิสแอร์ไปยังแฟรงก์เฟิร์ต 1 ชม. และรออีกประมาณ 2 ชม.เศษ ต่อเครื่องลุฟต์ฮันซ่าไปยังลิทัวเนีย (Vilnius International Airport) ใช้เวลาอีก 1 ชม. 45 นาที รวมเวลาตั้งแต่นัดหมายกันที่สุวรรณภูมิ และถึงลิทัวเนีย ที่สนามบิน มีปัญหากระเป๋าและสัมภาระของทีมรวม 20 กว่าชิ้น ไม่มากับเครื่องบินด้วย เสียเวลาไปอีกเกือบ 2 ชม. ใช้เวลาเดินทางจากเมืองหลวง Vilnius มาที่พักอีกเมืองหนึ่ง (Kaunas) อีกชั่วโมงครึ่ง เข้าที่พักในโรงเเรม Best Western Santakos Hotel รวมแล้วเท่ากับเดินทางเกือบ 24 ชม. กันเลยทีเดียว 

หลังการเดินทางจากไทย ถึงลิทัวเนียอันยาวนานเป็นวันแล้ว ยังมีเรื่องรำคาญใจอีกที่กระเป๋าและเสื้อผ้าชุดแข่งขัน อาหารการกินที่เอาไปจากไทย รวมทั้งของส่วนตัวของนักกีฬาและ จนท.บางท่าน ไม่มากับเครื่องบิน 20 กว่าชิ้น ซึ่งสายการบินทั้งสวิสแอร์ (กรุงเทพ-ซูริกและซูริก-แฟรงก์เฟิร์ต) ลุฟต์ฮันซ่า (แฟรงก์เฟิร์ต-วิลเนียส) ติดตามให้ค่อนข้างจะช้า ขณะเขียนต้นฉบับนี้ ได้รับของเกือบครบทุกคนแล้ว สิ่งที่สำคัญสุดคือชุดแข่งขันทั้งหมดมาแล้ว จึงยกเลิกที่ทางวอริกซ์จะช่วยผลิตชุดให้ใหม่

การประชุมนักกีฬาทาง Online ในโรงแรมที่นักกีฬานั่งรวมกันอยู่ มีการชี้แจงเกี่ยวกับพฤติกรรมในสนาม สิ่งที่ฟุตซอลไม่ควรทำ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ผู้เล่น โดยนำเสนอเป็น VDO Clips ที่เกิดขึ้นจริงๆ ในการแข่งขันที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ ก็มักนำไปสู่การได้ใบเหลือง-ใบเเดง แล้วแต่ความรุนแรง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้นักฟุตซอลได้จดจำ และตัวเองจะได้ไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้น      

นอกจากนี้ ฟีฟ่าได้พยายามเน้นเรื่องที่มีการเปลี่ยน และเพิ่มเติมกฎระเบียบบางอย่างและจะนำมาใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ เป็นครั้งแรก เช่น โค้ชสามารถขอ Challenge การตัดสินของกรรมการได้ โดยจะมีการดูภาพเคลื่อนไหวที่มีการบันทึกเก็บไว้ โดยใช้คำว่า มี VDO Support โดยนำภาพวิดีโอมาช่วยการตัดสินใจของผู้ตัดสินด้วย เหมือนกับการใช้ VAR (Video Assistant Referee) ที่เราคุ้นเคยกันแล้ว ในฟุตบอลในการเช็กลูกล้ำหน้า ลูกฟาวล์ ลูกโทษ โดยจะสามารถสนับสนุนการขอ Challenge ของโค้ช ซึ่งในแต่ละครึ่งเวลา โค้ชมีสิทธิ์ขอ Challenge จากกรรมการได้ 1 ครั้ง หากเช็กจากวิดีโอซัพพอร์ตแล้วผู้ขอ Challenge ถูก สิทธิ์นั้นก็จะยังคงมีอยู่ตลอดไป  

ทั้งนี้การ Challenge จากโค้ช จะขอจากกรรมการได้ใน 4 กรณี คือ

1.) การขอดู เพื่อตัดสินการได้ประตูหรือไม่ได้ประตู

2.) ขอ Challenge กรณีฟาวล์แล้วได้ลูกโทษหน้าประตู ว่ามีการฟาวล์จริงหรือไม่?

3.) กรณีกรรมการให้ใบเเดงให้ผู้เล่น เมื่อการฟาวล์นั้นเป็นครั้งแรก 

4.) กรณีการตัดสินลงโทษโดยกรรมการอาจจะมีการผิดคน

นอกจากนี้ ยังมีกฎใหม่ ที่ใช้คำย่อว่า DOGSO >>> Denying a goal or an obvious goal-scoring opportunity การให้ใบแดงแก่ผู้เล่น ที่ไม่ใช่ผู้รักษาประตู ทำฟาวล์ต่อผู้ที่กำลังจะยิงประตูหรือใช้มือ ในการป้องกันการยิงประตูของฝ่ายตรงข้าม ขณะที่ผู้รักษาประตูของทีมตัวเอง ไม่ได้อยู่ป้องกันที่หน้าประตู (ลงมาป้องกันประตูไม่ทัน เมื่อเล่น Power play)

ส่วนที่มีการเน้นมากขึ้น ก็จะเป็นการประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมจนเกินไป เช่นการประท้วงที่ไม่ทำตามกฎกติกา หรือมารยาทที่พึงกระทำ จนทำให้การแข่งขันปั่นป่วน ผู้ตัดสินสามารถที่จะให้ผู้นั้นออกนอกสนามได้เลย 

ส่วนการที่เกิดจากความสะเพร่าไม่เอาใจใส่ การเล่นรุนแรง และการใช้มารยาทที่ไม่เหมาะสม) ตลอดจนลูกแฮนด์บอล จะเข้มงวดขึ้น โดยกรรมการจะดูจากท่าทางของการกางแขน การใช้มือว่าผิดไปจากธรรมชาติที่ควรเป็นมากเกินไปมั้ย (ต่อตอนหน้า) 

นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์

ประธานฝ่ายแพทย์สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ    

แพทย์ประจำทีมและ Medical Liaison Officer ประจำทีมฟุตซอลไทย 

ในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกของฟีฟ่า ที่ประเทศลิทัวเนีย

-------------------------------

พี่หมอไพศาล ออกเดินทางไกลอีกครั้งแล้วล่ะครับ 

คราวนี้บินข้ามทวีป ไปลุยยุโรปกับภารกิจดูแลขุนพลนักเตะโต๊ะเล็กช้างศึก ในทัวร์นาเมนต์ฟีฟ่า ฟุตซอล เวิลด์คัพ ระหว่างวันที่ 12 ก.ย. - 3 ต.ค. 64 ที่ประเทศลิทัวเนีย โน่นเลย  

โดยเที่ยงคืนวันนี้ (จันทร์ที่ 13 ก.ย.) ทีมฟุตซอลชาติไทย จะลงประเดิมสนามนัดแรกกับแข้ง “ฝอยทอง” โปรตุเกส ซึ่งคอลูกหนังบ้านเรารอลุ้นเชียร์กันได้ผ่านทางหน้าจอ PPTV HD ช่อง 36

ส่วนเบื้องหน้า เบื้องหลัง ของแคมป์ทีมไทยที่ลิทัวเนีย แบบอินไซด์ (จริงๆ) พี่หมอจะทยอยรายงานมาให้แฟนๆ ไทยรัฐสปอร์ตได้รับทราบกัน 

บนพื้นที่ SportInsider ตรงนี้ที่เดียว รออ่านกันได้เลยครับ !!!  

- บี บางปะกง -