ไทยรัฐออนไลน์
กระแสกีฬา ‘มวยไทย’ ที่ฝรั่งเศสสุดว้าว IFMA จัดบูมช่วง อลป.2024
กระแสมวยไทยที่ฝรั่งเศสสุดบูม ประธานมวยไทยที่เมืองน้ำหอมชื่นชม IFMA นำมวยไทยมาโปรโมตช่วงโอลิมปิกเกมส์ 2024 ด้านกิจกรรม OSM ส่วนหนึ่งในโครงการ “ไทยแลนด์ โชว์เคส” วันที่ 2 ยังคงคึกคัก
ความเคลื่อนไหวการจัดกิจกรรมนำกีฬา “มวยไทย” ไปโชว์แข่งขันเสมือนจริงช่วงการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 “ปารีส 2024” ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม-8 สิงหาคม 2567 ภายใต้การผลักดันของสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) นำโดย ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ประธานสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA), สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการ IFMA ผนึกกำลังกับคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติฝรั่งเศส และ “บัวขาว บัญชาเมฆ” ร้อยโทสมบัติ บัญชาเมฆ ยอดนักมวยไทยชื่อดังของโลก วัย 42 ปี ชาว อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ โดยกิจกรรมดังกล่าวนอกจากการแข่งขันโชว์มวยไทยเสมือนจริงแล้ว ยังทำการโปรโมตมวยไทย การแสดงปี่กลองมวยไทย การไหว้ครู ตามศิลปวัฒนธรรมมวยไทยที่ถูกต้องให้นักกีฬา เจ้าหน้าที่จากชาติต่างๆ ได้รับรู้ถึงศิลปะแม่ไม้มวยไทยที่มีต้นกำเนิดจากประเทศไทย ซึ่งถือเป็นบันไดก้าวสำคัญสานความฝันของคนไทยในการผลักดันกีฬา “มวยไทย” ให้ได้รับการบรรจุแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน ต่อไปในอนาคต
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม IFMA นำโดย สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการ IFMA เดินหน้าจัดการจัดอบรมมาตรฐานมวยไทย One Standard Muaythai (OSM) เป็นวันที่ 2 ต่อเนื่อง บ้านมวยไทย ชั้น 2 เท็ดดี้ ไรเนอร์ อารีน่า กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมี 3 ครูมวยชั้นนำของเมืองไทย ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ เมฆสวรรค์, ดร.เช้า วาทโยธา และ “ครูดิน” นายวิทวัส ค้าสม เป็นวิทยากรร่วมกัน โยบ้านมวยไทย ดังกล่าวตั้งขึ้นในส่วนหนึ่งของโครงการ “ไทยแลนด์ โชว์เคส” ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) นำมาจัดแสดงโชว์เพื่อโปรโมตประเทศไทยด้านกีฬา, วัฒนธรรม, ประเพณีต่อสายตาชาวต่างชาติ อันจะนำไปสู่การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬายูธ โอลิมปิกเกมส์ ค.ศ. 2030 ของประเทศไทย
นายนาดีร์ อัลลูอาเช ประธานสหพันธ์มวยไทยแห่งฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ปัจจุบันกีฬามวยไทยเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศฝรั่งเศส เห็นได้จากมียิมเนเซียมมวยไทยทั่วประเทศกว่า 1,400 แห่ง ในกลุ่มกีฬาต่อสู้ในฝรั่งเศส กีฬามวยไทยได้รับความนิยมสูงที่สุด อันดับรองลงมาคือ ยูโด และคาราเต้ ตามลำดับ ไม่ใช่เฉพาะคนฝรั่งเศสเท่านั้นที่สนใจมาฝึกกีฬามวยไทย แต่ชาวเมดิเตอร์เรเนียนเข้ามาฝึกฝนกีฬามวยไทยที่ฝรั่งเศสกันจำนวนมาก ในปัจจุบันมวยไทยในฝรั่งเศสมีพัฒนาการที่ดีมาก เพราะได้แรงสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการกีฬาที่ทำงานร่วมกับสหพันธ์มวยไทยแห่งฝรั่งเศสอย่างใกล้ชิดและทุ่มเทเต็มที่ และด้วยการทำงานอย่างราบรื่นที่ผ่านมา ทำให้อนาคตจะต้องทำงานร่วมกันต่อไป
นายนาดีร์ อัลลูอาเช กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่อยากเห็นคือ ไม่อยากให้กีฬามวยไทยเป็นแค่ชนิดกีฬาต่อสู้ แต่อยากให้เป็นตัวแทนวัฒนธรรม การผลักดันมวยไทยเข้าไปเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่งคือ การเป็นมวยไทยกลางแจ้ง เพื่อยกระดับความยิ่งใหญ่ของกีฬามวยไทยและเข้าร่วมการเป็นครอบครัวเดียวกันกับอิฟม่าในอนาคต
“การนำมวยไทยมาร่วมกิจกรรมโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงปารีส สมาคมมวยไทยที่ฝรั่งเศสทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลอย่างมาก ขอบคุณทุกคนในอิฟม่าที่ช่วยกันทำงานที่ยากจนมาถึงจุดสำคัญอีกไม่กี่วันข้างหน้า” ประธานสหพันธ์มวยไทยแห่งฝรั่งเศสกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับการอบรม OSM มวยไทย จะมีต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 4 สิงหาคม จากนั้นวันที่ 5-6 สิงหาคม คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติฝรั่งเศส ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน 2024 “ปารีส 2024” อนุญาตให้ IFMA ดำเนินการจัดการแข่งขันโชว์ “มวยไทย” รูปแบบเสมือนจริง ที่คลับฟรานซ์ กรุงปารีส ในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 โดยมีชาติสมาชิกของ IFMA จำนวน 28 ประเทศ ส่งนักมวยไทยไปร่วมแข่งขันเสมือนจริงเต็มรูปแบบ และมีการแสดงปี่กลองมวยไทย การไหว้ครู ตามศิลปวัฒนธรรมมวยไทยที่ถูกต้องให้นักกีฬา เจ้าหน้าที่จากชาติต่างๆ ได้รับรู้ถึงศิลปะแม่ไม้มวยไทยที่มีต้นกำเนิดจากประเทศไทย
ในส่วนของประเทศไทยมีนักมวยไทย 3 คนเข้าร่วม คือ ประเภทต่อสู้ 2 คน รุ่น 48 กก. “โดมทอง ลูกเจ้าพ่อโรงต้ม” ศุภณัฐ เพชรรักษ์ และรุ่น 48 กก.หญิง “น้องนุ๊ก มกช.ชัยภูมิ” กุลณัฐ อ่อนอก ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ บัวขาว บัญชาเมฆ ขณะที่อีก 1 รายคือ “ไอซ์” ธนวรรณ ทองดวง ในประเภทไหว้ครู ซึ่งทั้ง 3 คนมีดีกรีเป็นแชมป์โลกหนล่าสุดจากศึกมวยไทยชิงแชมป์โลก 2024 “อิฟม่า ซีเนียร์ เวิลด์แชมเปียนชิพ 2024” ที่เมืองปาทรัส ประเทศกรีซ
จากนั้นวันที่ 7 สิงหาคม จะมีพิธีลงนามและการโปรโมตมวยไทย ที่โอลิมปิก เฮาส์ โดยมี เจ้าชายอับดุลลาซิซ บิน เตอร์กี อัล ไฟซอล ประธานสมาคมกีฬาสมานฉันท์อิสลาม (Islamic Solidarity Sports Association), ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกเปรู และประธานคณะกรรมการโอลิมปิกบาห์เรน เข้าร่วมลงนาม ต่อด้วยงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์สำหรับสมาชิกที่ร่วมงาน