หน้าแรกแกลเลอรี่

บริหารความล้า

แม่ลูกจันทร์

7 ก.พ. 2564 05:01 น.

ความล้า (Fatigue) ความเหนื่อยล้าหรือความเมื่อยล้าที่คนส่วนใหญ่โดยทั่วไปใช้พูดกัน ในความเป็นจริงแล้ว “ความเหนื่อย (Tired)” กับ “ความล้า (Fatigue)” มีความแตกต่างกันแต่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันจนอาจจะแยกไม่ออก ถ้าไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

ยกตัวอย่าง เช่น เรานั่งทำงานใช้สมองทั้งวัน หรือมีอาการเครียด จากสถานการณ์สภาพแวดล้อม ซึ่งมีผลทำให้เกิดอาการล้าทางสมองได้ โดยที่เราไม่ได้รู้สึกเหนื่อย แต่กลับทำให้เราเหมือนไม่มีแรง หรือเกิดอาการอ่อนล้าหมดแรงได้

เพราะสมองหรือระบบประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย เกิดอาการล้า (Fatigue) จากการถูกใช้งานซ้ำๆกัน หรือติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน

หรือมีเหตุการณ์ที่มากระตุ้นให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล ความคิดที่สับสนจากการถูกกดดันของเหตุการณ์ในระหว่างเกมการแข่งขัน หรือเกิดจากความผิดพลาดหรือความผิดหวัง เป็นต้น

ทำให้สมองต้องดึงออกซิเจนจากร่างกายไปใช้มากกว่าปกติหลายสิบเท่า ทำให้กล้ามเนื้อขาดออกซิเจนหรือได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอต่อการเคลื่อนไหวร่างกายที่ต้องการใช้กำลัง ความเร็ว

ในขณะที่ความล้าส่งผลอย่างมากต่อแรงกระตุ้นของกระแสประสาท

ดังนั้น เมื่อความล้าเพิ่มขึ้น แรงในการหดตัวของกล้ามเนื้อจะลดลง ส่งผลให้การเคลื่อนไหว และการเคลื่อนที่ ตลอดจนปฏิกิริยาการรับรู้สั่งงานของสมองช้าลงโดยไม่รู้ตัว

ความล้าที่เกิดขึ้นกับนักกีฬาสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้คือ

1. ความล้าเฉียบพลัน (Acute Fatigue): เกิดจากเหตุปัจจัยหลายอย่างมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็นระดับความหนักในการฝึกซ้อม ความกดดันจากความไม่เข้าใจในรูปแบบวิธีการฝึกซ้อม เป็นต้น

2. ความล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue): เกิดจากการรวมตัวของความเครียดความกดดันทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ที่นักกีฬาต้องทำการฝึกซ้อมหรือแข่งขันติดต่อกันยาวนาน โดยที่ไม่มีโอกาสได้พักฟื้นสภาพร่างกาย (Recovery) ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ ความสามารถและประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวร่างกายลดลง

3.ความล้าประสาทส่วนกลาง (Central nervous Fatigue) : เป็นความล้าที่เกิดจากสมองหรือระบบประสาทส่วนกลาง (CNS) ต้องทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน

ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลียและเบื่อหน่าย (Burnout) เกิดภาวะบกพร่องในการรับรู้สั่งงานของสมอง เกิดความผิดพลาดในจังหวะและความเร็วในการปฏิบัติทักษะและการเคลื่อนไหวร่างกาย

โดยปกติสมองใช้ออกซิเจนในการทำงานมากกว่ากล้ามเนื้อหลายสิบเท่า

การออกกำลังกายอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับตนเองเป็นประจำสม่ำเสมอ จึงมีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกายและสมอง

oooooooo

ข้อความข้างต้น ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์การกีฬา เอสซีจีแบดมินตัน อะคาเดมี่ ได้โพสต์ให้ความรู้ไว้ในเพจเฟซบุ๊ก Charoen Krabuanrat

โดย “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ “ปอป้อทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย นักตบลูกขนไก่คู่ผสม ที่สร้างประวัติศาสตร์ กวาด 3 แชมป์แบดมินตันเวิลด์ ทัวร์ ซุปเปอร์ 1000 ก็ได้แชร์เอาไว้

เนื่องจากการดูแลของ ศ.ดร.เจริญถือเป็นเบื้องหลัง เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของทั้งคู่

แน่นอนว่า การแข่งขันหนักๆติดๆกันหลายสัปดาห์ ร่างกายของเราย่อมอ่อนล้าเป็นธรรมดาจะเข้าไปอยู่ในหมวดความล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue) ทันที

ถ้าเรายอมแพ้ ก็ไม่มีทางชนะ แต่ถ้าหากต้องการผ่านอุปสรรคนี้ ก็ต้องรู้จักบริหารจัดการความล้าที่เกิดขึ้นให้ได้ ถ้าทำได้ดี รู้จักวิธี ร่างกายก็สามารถสู้ได้ต่อไป

โอกาสก้าวไปสู่ความสำเร็จก็จะมีเพิ่มตามมา เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จะยอมแต่แรก หรือจะสู้ไม่ถอย

ทั้งหมดเราเป็นคนเลือก...

ฟ้าคำราม