"จากข้อมูลที่ได้รับในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งข้อมูลของผู้ป่วยที่กำลังพักฟื้นจากโควิด-19 หรือข้อมูลของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน พบว่า วัคซีนโควาซิน (Covaxin) ที่ได้รับการพัฒนาโดย บริษัท ภารัต ไบโอเทค (Bharat Biotech) ร่วมกับสถาบันไวรัสวิทยาแห่งชาติอินเดีย หรือ NIV (National Institute of Virology) และสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งประเทศอินเดีย หรือ ICMR (Indian Council of Medical Research) สามารถต่อต้านเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย 617 หรือสายพันธุ์อินเดียได้"

นายแพทย์แอนโทนี เฟาซี (Dr.Anthony Fauci) ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อในสหรัฐฯ และหัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ประจำทำเนียบขาว กล่าวกับบรรดาผู้สื่อข่าวในทำเนียบขาว ระหว่างการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา

เหตุใดผู้เชี่ยวชาญโรคระบาดที่ได้รับการยอมรับในสหรัฐอเมริกาและระดับนานาชาติ จึงต้องออกมายืนยันถึงประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากประเทศอินเดีย?

ประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 อย่างหนักหน่วง ถึงขนาดมีผู้ติดเชื้อรายวันเกินกว่า 3 แสนคนมาหลายวันติดต่อกัน!

จนกระทั่งคำพูดดังกล่าวของนายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ถูกสื่อกระแสหลักในอินเดียนำไปใช้ตอบโต้ ข้อครหาที่มีต่อ "วัคซีนโควาซิน" จากสื่อตะวันตก

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น หาก "คุณ" กำลังสงสัย "เรา" ค่อยๆ ทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน

"วัคซีนโควาซิน" คืออะไร? และมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน?

...

โควาซิน คือ วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้เทคนิคเชื้อตาย (Inactivated vaccines) ซึ่งผลิตมาจากไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้วด้วยสารเคมีหรือความร้อน เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เป็นเทคนิคที่เคยใช้กับการผลิตวัคซีนตับอักเสบเอ หรือวัคซีนโปลิโอ (ชนิดฉีด) มาแล้ว และเป็นวัคซีนที่ใช้เทคนิคเดียวกันกับวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ของประเทศจีน

สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนโควาซินนั้น รายงานอย่างเป็นทางการของรัฐบาลอินเดีย ภายหลังการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา พบว่า วัคซีนโควาซินมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ได้ประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์

ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาจากสถาบันไวรัสวิทยาแห่งชาติอินเดีย และสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งประเทศอินเดีย รายงานด้วยว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนโควาซินสามารถลบล้างฤทธิ์เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้หลากหลายสายพันธุ์ รวมทั้งยังออกฤทธิ์ต่อต้านสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์คู่ (Double Mutant) เช่น สายพันธุ์อินเดีย และสายพันธุ์อังกฤษ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ หากฉีดครบ 2 เข็ม จะให้ผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญและมีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสกลายพันธุ์ อย่างสายพันธุ์บราซิล และสายพันธุ์ D614G หรือสายพันธุ์ G ที่พบมากในสหรัฐอเมริกาและยุโรปอีกด้วย

อย่างไรก็ดี รายงานเรื่องประสิทธิภาพวัคซีนดังกล่าวของทางการอินเดียถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วง ทั้งจากฝ่ายการเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลอินเดีย รวมถึงสื่อจากทางตะวันตก โดยมีความพยายามหยิบยกประเด็นที่ว่า "เร่งรีบอนุมัติให้ฉีดวัคซีนกับชาวอินเดียเร็วเกินไปหรือไม่?"

เนื่องจากเป็นการอนุมัติก่อนที่ผลการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 จะสิ้นสุดลง!

อย่างไรก็ดี นายกฤษณะ เอลลา (Krishna Ella) ประธานบริษัท ภารัต ไบโอเทค บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่ดำเนินกิจการมานานถึง 24 ปี และมีวัคซีนมากกว่า 16 ชนิด ส่งออกไปยัง 123 ประเทศ ได้ออกมาโต้ตอบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวว่า

"การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายของอินเดีย ที่อนุมัติให้มีการใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉินได้ เมื่อการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 สิ้นสุดลง ในกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดโรคร้ายแรงที่เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของผู้คนในประเทศ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่การอนุมัติให้มีการใช้วัคซีนก่อนกำหนดอย่างที่มีการกล่าวหา"

แล้วอะไร คือ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นบ้างในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 และระยะที่ 3?

...

ตามรายงานอย่างเป็นทางการของอินเดีย ระบุว่า จากการประเมินในระหว่างการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 พบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพ 78% ในการป้องกันอาการระดับเล็กน้อย ระดับปานกลาง และระดับรุนแรง ของโรคโควิด โดยมีค่าช่วงความเชื่อมั่นที่ 95%

ส่วนการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 25,800 คน โดยผู้ที่เข้าร่วมมีอายุระหว่าง 18-98 ปี โดยในจำนวนนี้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึง 10% นั้น ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างรอผลการประเมิน ภายหลังจากบรรดาอาสาสมัครได้รับยาเข็มที่ 2 ไป ภายในระยะเวลา 14 วัน โดยเบื้องต้น ทางบริษัท ภารัต คาดว่าจะมีการเปิดเผยผลการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนขั้นสุดท้ายได้ในช่วงเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้

ปัจจุบัน นอกจากวัคซีน "โควาซิน" แล้ว ชาวอินเดียมีทางเลือกอื่นหรือไม่?

นอกจาก "โควาซิน" แล้ว อินเดียยังผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีชื่อว่า Covishield ของบริษัท แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ผ่านสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) หรือ SII หนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลก และสามารถผลิตวัคซีนได้มากกว่า 60 ล้านโดสต่อเดือน

...

โดยผลการทดสอบทางคลินิกระหว่างประเทศล่าสุด มีการรายงานว่า วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกาชนิดนี้ มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโควิด-19 ได้ถึง 90% ในกรณีที่ฉีดเข็มแรกครึ่งโดส และฉีดเข็มที่สองเต็มโดส อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวยังคงต้องมีการวิจัยที่ลงลึกในรายละเอียด และมีความชัดเจนให้มากขึ้นในลำดับถัดไป

ในเมื่อมีทั้งวัคซีนและบริษัทผลิตวัคซีนขนาดยักษ์ แต่เหตุใดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจึงล่าช้า?

หากอ้างอิงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ล่าสุดของ WHO ณ วันที่ 28 เมษายน 2021 ระบุว่า อินเดียฉีดวัคซีนให้กับประชาชนรวมแล้วทั้งสิ้น 145,271,186 โดส โดยจำนวนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้วอยู่ที่ 121,361,009 คน ส่วนจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 อยู่ที่เพียง 22,910,177 คน จากจำนวนประชากร 1,380 ล้านคน!

โดยหากท่านใดอยากทราบถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศอินเดีย ณ เวลานี้ สามารถคลิกอ่านได้ที่

เหตุใดการฉีดวัคซีนในอินเดียจึงล่าช้ามากเช่นนั้น?

...

นอกจากระบบสาธารณสุขของอินเดียต้องรองรับผู้ติดเชื้อจำนวนมากมายมหาศาลในแต่ละวัน จนแทบไม่มีเวลาหายใจแล้ว ก่อนหน้าการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 มีรายงานว่า อินเดียได้ส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ทั้ง Covishield และโควาซิน ที่ผลิตได้ไปให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมในโครงการ Covax ที่นำโดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ร่วมกับองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (The Vaccine Alliance) และพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations) รวมกันมากถึง 64 ล้านโดส จากจำนวน 2,000 ล้านโดส ที่โครงการ Covax ให้คำมั่นว่า จะส่งมอบทั้งในแบบราคามิตรภาพ หรือ ให้ฟรี กับหลายร้อยประเทศที่เข้าร่วมโครงการภายในปีนี้ (ปี 2021) 

อย่างไรก็ดี เมื่อเริ่มต้นเกิดการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ในประเทศอินเดีย เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้มีคำสั่งให้ชะลอการส่งออกวัคซีน พร้อมกับมุ่งโฟกัสไปการเร่งหาทางเพิ่มการปูพรมฉีดวัคซีนให้กับชาวภราตะเพื่อหาทางคลี่คลายวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศแทน

ซึ่งนั่นแปลว่า ประเทศที่กำลังรอคอยการส่งมอบวัคซีน ตามโครงการ Covax อาจได้รับการส่งมอบวัคซีนล่าช้าออกไปจากกำหนดเดิม และนั่นอาจทำให้บางประเทศ ต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดที่ทอดยาวออกไปก็เป็นได้...

ข่าวน่าสนใจ: