มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่าคุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เปิดศึกงัดข้อกับคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ในโควตาพรรคพลังประชารัฐ หลังจากที่คุณศักดิ์สยามขอมีเอี่ยวทบทวนปรับแก้เมกะโปรเจกต์หลายโครงการที่คุณสมคิดผลักดันไว้ตั้งแต่สมัยเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในยุครัฐบาล คสช.

ขอยกตัวอย่าง 2-3 โครงการสดๆร้อนๆก็ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์–ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 122,041 ล้านบาท คุณอนุทินในฐานะรองนายกฯกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม บอกกับนักข่าวว่า ได้สั่งการให้คุณศักดิ์สยามไป หาทางออกรูปแบบใหม่ ในการลงทุนในโครงการนี้ จากเดิมใช้วิธีการ ร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) เพื่อให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เมื่อวันที่ 21 ม.ค.62 ที่มีคุณสมคิดเป็นประธาน มีมติเห็นชอบหลักการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกภายใต้รูปแบบ PPP Net Cost แต่พอคุณอนุทินและคุณศักดิ์สยามส่อเค้าจะไม่เอาการลงทุนแบบ PPP มาใช้กับโครงการนี้ ทำให้โครงการอื่นๆที่คณะกรรมการ PPP เห็นชอบไปแล้วเกิดความหวั่นวิตกไปตามๆกัน

หรืออย่าง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คุณอนุทินกับคุณศักดิ์สยามก็ออกมาพูดเสียงแข็งบ่อยครั้ง กดดันให้ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง และพันธมิตร (CPH) มาลงนามสัญญาภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้ พร้อมคำขู่ถ้าไม่มาลงนามภายในกำหนดจะถูก ยึดเงินค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ต้อง จ่ายส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น หากรัฐบาลมอบหมายให้เอกชนรายที่ 2 เข้ามาดำเนินโครงการแทน และบริษัทพันธมิตรทุกบริษัทจะถูกขึ้นแบล็กลิสต์ หมดสิทธิเข้าร่วมประมูลงานกับภาครัฐ

...

ความจริงโครงการนี้ล่าช้าเพราะการเจรจาเงื่อนไขในร่างเอกสารแนบท้ายสัญญาไม่ลงตัว โดยเฉพาะเรื่อง การส่งมอบพื้นที่ ทำให้เอกชนมีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วหลายโครงการ คุณอนุทินเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการก่อสร้างก็เคยประสบปัญหานี้เช่นกัน และต้องไม่ลืมว่าโครงการนี้เป็นการร่วมลงทุนแบบ PPP เพราะรัฐไม่อยากแบกรับความเสี่ยง จึงให้เอกชนมาร่วมรับความเสี่ยงด้วย ฉะนั้นถ้าไม่อะลุ้มอล่วย หรือไปกำหนดเงื่อนไขที่ยากปฏิบัติได้ ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐกับเอกชนก็ย่อมเปราะบาง

อีกโครงการหนึ่งที่ดูเหมือนถูกจับเป็นตัวประกันไปด้วยในศึกงัดข้อครั้งนี้คือ กรณีเจรจาต่ออายุสัมปทานทางด่วนออกไป 30 ปี เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ซึ่ง ครม.ในยุคที่คุณสมคิดเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจได้มอบหมายให้ กทพ.ไปเจรจากับ BEM จนได้ข้อยุติ จ่ายค่าชดเชยเพียง 58,000 ล้านบาท โดยแปลงค่าชดเชยก้อนนี้เป็น การขยายสัญญาออกไป 30 ปี และ BEM ต้องลงทุนทำ ทางยกระดับ 2 ชั้น (Double Deck) กับทำ สะพานบายพาส เพื่อแก้ปัญหาจุดตัดบนทางด่วน

ผลการเจรจานี้รัฐได้ประโยชน์คุ้มค่ามหาศาล จากที่อาจต้องจ่ายค่าชดเชยหลายแสนล้านบาทหากดึงดันสู้คดีต่อไป กลายเป็นไม่ต้องควักเงินจ่ายสักบาท ขณะที่ BEM ก็ได้ดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง ส่วนประชาชนจะได้ขึ้นทางด่วนราคาไม่แพง แถมไม่เจอปัญหารถติดบนทางด่วนเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

แต่พอคุณศักดิ์สยามเข้ารับตำแหน่ง รมว.คมนาคมได้ไม่นาน ก็ขอศึกษาทบทวนผลการเจรจาใหม่ และจนป่านนี้ก็ยังเก็บเรื่องไว้ไม่สรุปผลส่งเข้า ครม.เสียที ทั้งๆที่ดอกเบี้ยวิ่งทุกวันและรถติดบนทางด่วนทุกวัน

ผมไม่รู้ว่า 2 บิ๊กบอสพรรคภูมิใจไทยงัดข้อกับคุณสมคิดจริงหรือไม่ ขัดแข้งขัดขากันด้วยเหตุใด หรืออาจเป็นการเคาะกะลาแบบนักการเมืองรุ่นเก่า แต่อย่างไรเสียก็อย่าเล่นเกมกันซะจนนักลงทุนหมดความเชื่อถือรัฐบาลไทย และขอให้คิดถึงประชาชนเป็นหลัก ชาวบ้านรอใช้สาธารณูปโภคที่ดีอยู่ครับ.

ลมกรด