ระฆังบอกเวลาของทหารเรือ ตีกันทุกครึ่งชั่วโมงครับ เริ่มตี 1 ครั้ง สมมติตอนเช้า แปดโมงครึ่ง สามโมง ตี 2 ครั้ง เพิ่มทุกครึ่งชั่วโมง ถึงเที่ยงวัน ตี 8 ครั้ง เที่ยงครึ่ง เริ่ม 1 ใหม่
หมุนเวียนไปอย่างนี้ตลอด 24 ชั่วโมง
ตอนเป็นทหารเรือ (เกณฑ์) ผมถามจ่า ทำไมจึงตีได้แค่ 8 ครั้ง จ่าบอกเล่นๆ ถ้ามึงตี 9 ครั้ง ยักษ์จะออกมากิน
กรมอุทกศาสตร์ ที่ผมสังกัด เป็นตึกสี่เหลี่ยมแบบฝรั่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มุมสุดด้านซ้ายกองทัพเรือ ประตูข้างกรมเปิดออก ก็ถึงพระปรางค์วัดอรุณ
ออกจากเวรยาม...ตีระฆัง ข้างประตู ผมเดินเข้าออกผ่านวัดอรุณ ไปลงเรือข้ามฟาก ไปฝั่งท่าเตียน ไม่เคยรู้เลยว่า ที่ตั้งกรม ระฆังที่ผมตี มีส่วนสัมพันธ์กับองค์พระปรางค์
ในหนังสือภาษาคาใจ ปากพูดหูเพี้ยน (สำนักพิมพ์เพชรประกาย พ.ศ.2553) สังคีต จันทนะโพธิ เขียนว่า ปืนเที่ยงเป็นส่วนหนึ่งของราชการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้ยิงขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นสัญญาณ
“ถึงเวลาครึ่งวันแล้ว”
ข้าราชการ หยุดงานกินมื้อกลางวัน พระที่ฉันจังหันเพล ก็ต้องหยุดฉัน คอไพ่ตองก็รู้ว่า ได้เวลาบ่อนเปิด บ่อนไพ่ตองสมัยนั้น อนุญาตให้เปิดได้ ตั้งแต่เที่ยงวันไปถึงเที่ยงคืน
หน่วยงานที่รับภาระยิงปืนเที่ยง คือทหารเรือ ที่เก่งในวิชา วัดแดดวัดดาว ยิงปืนเที่ยงทุกครั้ง ตรงเวลาเทียบได้ตามมาตรฐานเวลากรีนิช ไม่พลาดแม้แต่เวลาเสี้ยววินาที
อ่านถึงตอนนี้ ผมจึงนึกได้ จุดแขวนระฆังที่พวกผมตีทุกวัน อยู่ตรงหน้านาฬิกาเรือนใหญ่ เขียนว่าเวลาเทียบสมมติฐานกรีนิช แห่งประเทศไทย ระฆังที่ผมตี จึงบอกเวลาได้แม่นยำตามมาตรฐานโลกทีเดียว
ก่อนที่ทหารเรือจะใช้วิชาวัดแดดวัดดาว หรือเอาเวลามาตรฐานกรีนิช มาคำนวณเพื่อยิงปืนเที่ยง คุณสังคีตบอกว่า ทหารเรือยึดถือเอาเงาจากแสงอาทิตย์ที่คล้อยไปตามจักรวาล จากองค์พระปรางค์วัดอรุณ เป็นหลัก
...
จุดที่ใช้ยิงปืนเที่ยง แรกทีเดียวอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แถวท่าราชวรดิฐบ้าง กองเรือปืนกลบ้าง ขนาดลำกล้องปืนที่ใช้ยิง ราว 4 นิ้ว หันลำกล้องปืนลงแม่น้ำเจ้าพระยา
ก่อนเวลายิง ทหารเรือจะเอาธงแดงไปปักไว้ทั้งทางเหนือทางใต้ ให้เรือที่ผ่านไปมาใบ้เป็นข้อสังเกต หยุดวิ่งเรือราว 2-3 นาที กระสุนที่ใช้ยิง แม้เป็นกระสุนหลอก แต่ก็เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน
ผู้ให้สัญญาณการยิง เป็นทหารเรือจากฝั่งวัดอรุณ สัญญาณนั้นคือการชักธงขึ้นยอดเสา
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รัฐบาลคณะราษฎร เห็นว่า มีนาฬิกาบอกเวลาทันสมัยกว่า การยิงปืนเที่ยง เสียค่าดินปืน ค่าเบี้ยเลี้ยง ทั้งเวลาราชการของทหารเรือ จึงสั่งยกเลิก
แต่ความเคยชิน จากการได้ยินเสียงปืนเที่ยง ตอนที่ผมเป็นทหารเรือ พ.ศ.2509-2511 ก็ยังได้ยินสำนวน “ไกลปืนเที่ยง” เปรียบเปรยคนบ้านนอกคอกนาบ่อยๆ
เพิ่งมารู้เอาตอนนี้ หน้าที่ตีระฆังบอกเวลาทหารเรือ หน้านาฬิกาเทียบเวลากรีนิช ที่ทำอยู่สองปี ที่กรมอุทกศาสตร์ ข้างพระปรางค์วัดอรุณนั้น...ถือว่า “ใกล้ปืนเที่ยง” มาก
สมัยนี้ ไม่ค่อยมีใครพูดคำว่า “ไกลปืนเที่ยง” ให้ได้ยิน แต่คำว่า “เที่ยงตรง” เวลาพระอาทิตย์ตรงหัว ยังใช้กันในความหมายกว้างไกล ไปถึงคำว่า “เที่ยงธรรม”
แต่มาตรฐานความเที่ยงธรรม ที่ใช้กันในการเมือง เท่าที่ฟังๆดู ไม่ได้มีอยู่มาตรฐานเดียว
ความเที่ยงธรรมมาตรฐานรัฐบาล คสช.นั้น มาตรฐานหนึ่ง ส่วนความเที่ยงธรรม มาตรฐานพรรคการเมืองที่แยกตัวเป็น
ฝ่ายประชาธิปไตย นั้นดูจะห่างไกลไปอีกมาตรฐานหนึ่ง.
กิเลน ประลองเชิง