ในพื้นที่สาธารณะและอุตสาหกรรมจะมีมลพิษทางอากาศ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากการสันดาปของเครื่องยนต์และกระบวนการทางอุตสาหกรรม การสัมผัสกับไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ในระยะยาวอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะกับทารกและผู้ป่วยโรคหอบหืด
กฎระเบียบของสหภาพยุโรปอนุญาตให้มีค่าไนโตรเจนไดออกไซด์ในอากาศได้ถึง 20 ส่วนในพันล้านส่วน โดยจะเกินได้ไม่มากกว่า 18 ครั้งในหนึ่งปี ทว่าการตรวจสอบคุณภาพอากาศเพื่อป้องกันการสัมผัสมลพิษที่ระดับพันล้านส่วนในปัจจุบัน ทำได้เฉพาะกับอุปกรณ์ราคาแพง ขนาดเทอะทะ และไม่ได้นำมาใช้อย่างกว้างขวาง สิ่งเหล่านี้ทำให้มีความพยายามพัฒนาสร้างอุปกรณ์ที่ตรวจสอบคุณภาพอากาศได้เร็ว ราคาย่อมเยา เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากทั่วยุโรปนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ ในอังกฤษ เผยว่าได้พัฒนาตัวรับรู้หรือเซ็นเซอร์คุณภาพอากาศ ที่สามารถอ่านระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ได้ว่องไว และแม่นยำแล้ว
อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นวัสดุนาโนคาร์บอน ทำจากคาร์บอนแอโรเจลที่ใช้กระบวนการเลเซอร์ เซ็นเซอร์มีความไวในการตรวจจับไนโตรเจนไดออกไซด์ได้เกือบ 10 ส่วนในพันล้านส่วน ภายในเวลาไม่เกิน 15 นาที ที่สำคัญคือทำงานที่อุณหภูมิห้องได้ ราคาไม่แพง พกพาสะดวก โดยทำงานเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชัน เชื่อว่าจะมีศักยภาพในการใช้งานอย่างแพร่หลาย.