คุณชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติสายองค์กรสัมพันธ์ โฆษกแบงก์ชาติ ได้พูดในเวทีเสวนาหัวข้อ “จับตาอนาคตเศรษฐกิจไทย : เมื่อโลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ” ในงาน มหกรรมการเงิน Money Expo กรุงเทพ ครั้งที่ 25 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย เนื่องจากสหรัฐฯเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ 18% ของการส่งออกทั้งหมด เรื่องภาษีสหรัฐฯจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัว และเกี่ยวข้องกับการจ้างงานเป็นแสนเป็นล้านคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ภาษีสหรัฐฯ ยังส่งผลกระทบต่อ “ความเชื่อมั่น” ด้วย หากไทยโดนสหรัฐฯเก็บภาษีที่ 36% อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ทำธุรกิจอยู่ในไทย หรือ กำลังตัดสินใจจะเข้ามาลงทุนในไทย ตัดสินใจย้ายฐานผลิตไปยังประเทศอื่นที่สหรัฐฯเก็บภาษีน้อยกว่าไทย และมีข้อได้เปรียบกว่าไทย จะทำให้การลงทุนจากต่างประเทศหยุดชะงัก เป็นผลกระทบที่รุนแรงมาก
เรื่องที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องก็คือ ไทยมีความเสี่ยงที่สินค้าจากประเทศอื่นที่ส่งออกไปสหรัฐฯไม่ได้ จะทะลักเข้ามาในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ ขายได้ในราคาถูก ทำให้ผู้ผลิตไทยเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ตอนนี้หลายอุตสาหกรรมเจอการแข่งขันที่สูงขึ้นแล้ว เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะต้นทุนการผลิตของเราอาจสูงกว่าประเทศอื่น ในอนาคตบริษัทเล็กๆจะถูกสินค้าจากต่างประเทศเข้ามากระทบมากขึ้น สิ่งที่เราคิดว่าไกลตัว กำลังจะมาเคาะประตูบ้านเราในไม่ช้า
คุณชญาวดี กล่าวว่า การรับมือจากผลกระทบของมาตรการภาษีสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งต้องฝากไว้กับทีมรัฐบาลที่จะเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ แต่ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นกับภาคการส่งออก อาจน้อยกว่าผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะ กรณีมีสินค้าจากประเทศอื่นทะลักเข้ามาในประเทศไทย ภาครัฐควรมีมาตรการที่เข้มข้นในการจัดการสินค้านำเข้าอย่างจริงจัง เราเชื่อมั่นว่าจะผ่านมรสุมครั้งนี้ไปได้ ภาคเอกชนของไทยเก่งและประเทศไทยก็มีของ แต่ภายใต้โลกที่เปลี่ยนไป เราต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เรามีอยู่ดีขึ้น ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของเราเดินหน้าต่อไปได้ ภาครัฐต้องสนับสนุนและเป็นลมใต้ปีกให้ด้วย
...
ประเด็นที่ คุณชญาวดี จุดประกายขึ้นมาเรื่อง สินค้าราคาถูกจากประเทศอื่นที่ส่งไปสหรัฐฯไม่ได้ จะทะลักเข้ามาไทย ผมเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง นายกฯแพทองธาร ชินวัตร ต้องเร่งสั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการทันที เพื่อปกป้องสินค้าไทย ผมมีข้อมูลจาก สภาพัฒน์ ที่คำนวณโดย แบงก์ชาติ ระบุว่า เรื่องสินค้าที่ทะลักเข้ามาไทย (Import Flooding) เป็นเรื่องแรกที่รัฐบาลต้องจัดการทันที เพราะถ้าไม่จัดการที่จุดนี้ให้ได้ก่อน มาตรการอื่นจะไม่มีผลเท่าที่ควร เช่น ถ้าใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภค เงินก็จะไหลออกไปประเทศอื่นที่เป็นเจ้าของสินค้า ไม่ได้ช่วยให้ภาคการผลิตของเราโตขึ้นแบบอดีต เงินที่รัฐบาลอัดฉีดลงไปจะไหลออกไปหมด ถ้าไม่ปิดรูนี้ให้สนิท ก็แก้ไขปัญหาไม่ได้
ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ ปี 2565–2567 การบริโภคสินค้าภาคเอกชนเติบโตเฉลี่ยปีละ 6% แต่จีดีพีภาคการผลิตกลับหดตัวเฉลี่ยปีละ 0.6% สาเหตุหนึ่งก็มาจาก การนำเข้าสินค้าโต 5%
สินค้าราคาถูกที่ทะลักเข้ามาเมืองไทย หลักๆก็มาจากจีน ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นชัดเจนก็คือ ปี 2567 ไทยนำเข้าสินค้าขั้นสุดท้าย (Final Goods) เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ราว 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการนำเข้าจากจีนถึง 7,500 ล้านดอลลาร์ มากกว่าครึ่งหนึ่งของการนำเข้าสินค้าที่เป็น Final Goods เมื่อมองไปข้างหน้าสินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามาไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เพราะจีนส่งออกไปสหรัฐฯได้ยากขึ้น เมษายน 2568 ที่ผ่านมา จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯลดลงถึง 21% แต่จีนกลับส่งออกไปทั้งโลก (รวมสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้น 8% และที่น่าตกใจก็คือ จีนส่งออกมาไทยเพิ่มขึ้นถึง 28% เพิ่มขึ้นเกือบ 1 ใน 3 ของสินค้าที่จีนส่งเข้ามาเมืองไทยในปี 2567 น่ากลัวไหมครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม