“กระท้อน” เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของ จ.ลพบุรี ส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่ ต.ตะลุง ต.งิ้วราย และ ต.โพธิ์เก้าต้น อ.เมืองลพบุรี ที่มีความโดดเด่นของลักษณะภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ ดินตะกอนธารน้ำ หรือที่ชาวบ้านเรียก ดินน้ำไหลทรายมูล เหมาะกับการผลิตกระท้อนคุณภาพดี

นายสุชาติ กลิ่นทองหลาง ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตร จ.ร้อยเอ็ด รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า กระท้อนลพบุรีได้รับการรับรองเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาในชื่อ “กระท้อนตะลุง”

ปัจจุบันมีเกษตรกรผ่านการรับรองทั้งสิ้น 92 ราย ในพื้นที่ 315 ไร่ มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย พันธุ์ปุยฝ้าย พันธุ์อีล่า พันธุ์ทับทิม พันธุ์นิ่มนวล และพันธุ์กำมะหยี่ แต่ละพันธุ์จะมีลักษณะเด่นรสชาติอร่อยไม่แพ้กัน

พันธุ์ปุยฝ้ายถือว่าเป็นกระท้อนที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมาก เพราะผลใหญ่เนื้อนุ่มเป็นปุย และรสชาติหวาน เฉลี่ยจะให้ผลผลิตอยู่ที่ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ชาวสวนเริ่มทยอยเก็บจำหน่ายกันตั้งแต่เดือน พ.ค.-ส.ค.

ทุกปีช่วงเดือน มิ.ย.ทางอำเภอเมืองลพบุรีจะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดงานกระท้อนห่อของดีเมืองลพบุรีชื่องาน “เทศกาลกระท้อนหวานและของดีเมืองลพบุรี” แต่เนื่องจากในปีนี้มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 จึงงดจัดงาน

อย่างไรก็ตาม เพื่อชดเชยงานกระท้อนหวานของดีเมืองลพบุรี ทางอำเภอเมืองลพบุรีได้จัดสถานที่ให้เกษตรกรนำกระท้อนมาจำหน่ายบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนกล่องลังกระดาษบรรจุกระท้อน 300 ใบ

...

นอกจากนี้ได้ประสานหน่วยงานต่างๆจัดหาช่องทางการจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง รวมถึงสั่งซื้อทางเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ของกรมส่งเสริมการเกษตร ราคากิโลกรัมละ 35-120 บาท

การอุดหนุน “กระท้อนตะลุง” ถือเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรอนุรักษ์ผลไม้ GI ให้อยู่คู่เมืองลิงตลอดไป.

สมมิตร เกตุแก้ว