ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เผยว่า ปัจจุบันมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ เป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากที่สุด โดยเฉพาะในหลายอำเภอของ จ.ราชบุรี จนได้การขึ้นทะเบียนจีไอ หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีพื้นที่ปลูกรวมกว่า 100,000 ไร่ มูลค่าส่งออกปีละนับ 10,000 ล้านบาท เริ่มมีการกลายพันธุ์ให้เห็นกันมากขึ้น จากการเพาะพันธุ์แบบเดิมๆ ที่ผู้เพาะขยายพันธุ์โหมเพาะให้ออกมาเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร เมื่อเกษตรกรนำไปเพาะปลูก กว่าจะเห็นผลผลิตก็เสียเวลาไป 2-3 ปี แถมรสชาติและความหอมก็อาจเปลี่ยนไป

“เมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด ผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอมเป็นอันดับต้นๆของประเทศ จึงมาขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ที่มีความพร้อมด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงห้องแล็บ วิจัยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของมะพร้าวพันธุ์นี้ ที่สุดจึงประสบความสำเร็จได้กล้าพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ ตรงตามแม่พันธุ์ที่ให้ลูกดก ทะลายเยอะ และคงความอัตลักษณ์ในรสชาติและกลิ่นหอมเฉพาะตัว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลกในการเพาะเนื้อเยื่อมะพร้าวพันธุ์นี้สำเร็จ”

...

สำหรับวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของมะพร้าวพันธุ์นี้ ผศ.พีระศักดิ์ บอกว่า เป็นการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบในสภาพปลอดเชื้อ ด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ในอนาคต

เริ่มต้นจากการคัดเลือกต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่ดี ได้แก่ น้ำและเนื้อมีรสชาติหวาน หอม จำนวนทะลายสูง จำนวนผลต่อทะลายพอเหมาะ ให้ผลสม่ำเสมอ จากนั้นใช้เทคนิคปลอดเชื้อ ตัดเอาชิ้นส่วนของพืช หรือ Explant ที่ผ่านการฟอกฆ่าเชื้อแล้วมาเลี้ยงในขวดแก้ว ให้อาหารวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อมาเรียบร้อยแล้ว

เมื่อเซลล์จากชิ้นส่วนของมะพร้าวที่นำมาเลี้ยงได้รับแร่ธาตุ วิตามิน สารควบคุมการเจริญเติบโต และน้ำตาล จากอาหารวิทยาศาสตร์ ที่เลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อ จะมีการเจริญเติบโตเป็นต้นโดยตรง หรือเกิดเป็นกลุ่มของเซลล์ที่เรียกว่าแคลลัส ต่อมาจึงนำแคลลัสมาเลี้ยงในสภาพที่มีแสง แคลลัสเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นโซมาติกเอ็มบริโอ และเกิดยอดใหม่สีเขียว ชักนำให้เกิดยอด และราก เมื่อต้นกล้ามียอดและรากที่สมบูรณ์ จึงนำออกปลูก อนุบาลในโรงเรือน และนำออกปลูกในแปลงปลูกต่อไป

“มะพร้าวที่เพาะพันธุ์ทางธรรมชาติมีอัตราการงอกแค่ 50-55% แต่เพาะเนื้อเยื่อเราสามารถเพาะได้เท่าที่ต้องการ ในปริมาณมากๆ แถมได้ต้นพันธุ์ก้นจีบแท้ 100% ที่ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามต้นแม่พันธุ์ ทำให้เกษตรกรลดอัตราความเสี่ยงเสียเวลาปลูก ขณะที่รสชาติ ความหอม ก็ตอบสนองความต้องการของเกษตรกร ที่ต้องการปลูกเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้กินมะพร้าวน้ำหอมที่ตรงตามสายพันธุ์ อันจะส่งผลต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมมะพร้าวน้ำหอมของไทย” ผศ.พีระศักดิ์ กล่าว.