แผ่นดินไหวแค่สะกิด…จุดอ่อนที่แท้จริงอยู่ในระบบวิศวกรรมของเรา ถึงเวลาพูดความจริง...กรณีตึกสูงถล่มยับกับความรับผิดชอบที่หายไป?
สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะมีอะไรที่ผิดปกติแน่นอน เพราะว่าแผ่นดินไหวกระทบตึกสูงโดยทั่วไป หากแต่ก็ไม่ทำให้พังเหมือนกันแม้แต่น้อย ความไม่ปกตินี้จะต้องคลี่คลายนำไปสู่ความเป็นจริงที่ได้รับการพิสูจน์...เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการสอบสวนอย่างรอบด้าน ทั้งผู้รับเหมา วิศวกร เจ้าของโครงการและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีกในอนาคต คำถามสำคัญคือเกิดจากข้อผิดพลาดทางวิศวกรรมหรือเป็นผลจากการทุจริตในการก่อสร้าง? และ...ใครจะต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น?
โครงการก่อสร้างอาคารของ สตง.ถล่ม จะต้องสอบสวนผู้ใดบ้าง?
อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Sonthi Kotchawat” ย้ำว่า โครงการสร้างตึกของสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกิดการถล่มทลายลงมาราบเป็นหน้ากลองแบบลักษณะคล้าย Pan cake Collapse เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568
...

เนื่องจากได้รับความสะเทือนจาก “แผ่นดินไหว” ที่พม่า โดยเป็นอาคารสูงอาคารเดียวใน กทม. ที่กำลังก่อสร้างแล้วพังลงมา...กรณีนี้มีกลุ่มคนที่ต้องรับผิดอย่างไรบ้าง?
หนึ่ง...“สตง.” จัดทำ Terms of Reference หรือ TOR เป็นเอกสารที่กำหนดขอบเขตและรายละเอียดของการจัดหาพัสดุ...งานจ้างที่ผู้จัดทำ TOR ต้องการให้ผู้ก่อสร้างดำเนินการ รวมทั้งความรับผิดชอบอื่นๆของผู้ก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับพัสดุ...งานจ้างนั้นๆ รวมทั้งจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบอาคารได้ 2 บริษัท
คือ บริษัท ฟอ–รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด
สอง...ตั้งคณะกรรมการจัดจ้างทำการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีคุณสมบัติตรงกับ TOR หลังจากนั้นเสนอราคาแบบ E-Bidding ผู้รับเหมาก่อสร้างใดเสนอราคาต่ำสุดถือเป็นผู้ชนะได้งานก่อสร้าง
...ผู้ชนะคือกิจการร่วมค้า ไอทีดี–ซีอาร์อีซี
ประกอบไปด้วยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีงบประมาณ 2,560 ล้านบาท และได้ผู้ชนะการประกวดราคาคือ กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดที่ 2,136 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 386.15 ล้านบาท

สาม...สตง.จ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อควบคุมงานก่อสร้างคือกิจการร่วมค้า PKW (ประกอบไปด้วย บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด, บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ในวงเงิน 74.65 ล้านบาท
สี่...ในการก่อสร้างผู้รับเหมาก่อสร้างได้มีการว่าจ้างบริษัทรายย่อยหรือ Sub-contractor มาร่วมก่อสร้างด้วย ห้า...คณะกรรมการตรวจรับได้ตรวจรับงานก่อสร้างเป็นช่วงๆและได้เบิกจ่ายเงินให้ผู้รับเหมาไปแล้ว 900 ล้านบาท หก...พบเหล็กข้ออ้อยจากการก่อสร้าง 2 ประเภทคือขนาด 20 มม. และ 32 มม.ไม่ได้มาตรฐาน สมอ.
น่าสนใจว่าเหล็กเหล่านี้มาจากการผลิตของโรงงานบริษัทซิน เคอ หยวน จำกัด สัญชาติจีน ที่ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งถูกกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งปิดเมื่อเดือนธันวาคม 2567
สรุปแล้วเหตุการณ์ถล่มของตึก สตง.ต้องสอบสวนใครบ้าง?
เริ่มจาก...คณะกรรมการจัดจ้างโครงการสร้างตึก สตง., บริษัทที่ปรึกษาที่ทำการออกแบบก่อสร้างตึก สตง., กลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้าผู้รับเหมาก่อสร้าง, กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่ควบคุมการก่อสร้าง, คณะกรรมการตรวจรับงานก่อสร้าง, บริษัทที่ผลิตเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานนำมาก่อสร้าง, บริษัทที่ทำงานก่อสร้างรายย่อย
...

ความเสียหาย...ผลกระทบจากแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแล้ว กรณีอาคารทั่วไปมีข้อแนะนำรายละเอียดการสำรวจ “โครงสร้างอาคารหลังแผ่นดินไหว” อ้างอิงจากคู่มือการสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังแผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมืองเผยแพร่ให้เป็นความรู้ไว้ว่า...
การสำรวจโครงสร้างอาคารหลังแผ่นดินไหวจะเน้นไปที่การตรวจสอบโครงสร้างหลัก เช่น เสาและคาน...ตรวจสอบรอยแตกร้าว รอยฉีกขาด การเสียหายของเหล็กเสริม, ผนังรับน้ำหนัก...ตรวจสอบรอยร้าวขนาดใหญ่ที่อาจกระทบโครงสร้างหลัก และ จุดเชื่อมต่อระหว่างส่วนต่างๆ เช่น รอยต่อเสา-คาน...พื้น-คาน
จำแนกระดับความเสียหายเป็น 3 ระดับ สีเขียว...ไม่มีความเสียหาย หรือมีรอยร้าวเล็กน้อย อาคารยังใช้งานได้ สีเหลือง...มีความเสียหายในระดับปานกลาง สามารถใช้งานได้แต่ต้องระมัดระวัง สีแดง...โครงสร้างอาคารเสียหายหนัก มีโอกาสพังถล่ม ห้ามใช้งาน

...
กรณีอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ตรวจสอบรอยแตกร้าวที่เสาและคาน ตรวจสอบเหล็กเสริมที่อาจเผยออกมา ประเมินว่าความเสียหายกระทบต่อโครงสร้างโดยรวมหรือไม่...ยกตัวอย่างเช่นอาคารโครงสร้างเหล็กรูปพรรณ ตรวจสอบการบิดตัวของโครงเหล็ก ตรวจสอบรอยเชื่อมต่อของเหล็ก หากมีการฉีกขาด
อาคารไม้และอาคารอิฐก่อ ตรวจสอบรอยร้าวลึกในผนังรับน้ำหนัก ประเมินความแข็งแรงของโครงสร้างหลัก นำไปสู่แนวทางการดำเนินการหลังสำรวจ...อาคารสีเขียว สามารถใช้งานได้ตามปกติ อาคารสีเหลือง ต้องมีการซ่อมแซมเบื้องต้น เช่น เสริมโครงสร้าง หรือติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการพังถล่ม
อาคารสีแดง ต้องปิดกั้นพื้นที่ ห้ามเข้าใช้งานและอาจต้องรื้อถอนหรือเสริมโครงสร้างใหม่

ทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหว หนึ่งในภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนหลังจากแรงสั่นสะเทือนสงบลงก็คือ “การสำรวจโครงสร้างอาคาร” เพื่อประเมินความปลอดภัย หลีกเลี่ยงความสูญเสียซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมา แม้แผ่นดินจะนิ่ง แต่ “ความเสียหายที่แฝงอยู่” ในเสา คาน พื้น ผนัง และฐานราก
...
อาจเป็น... “ระเบิดเวลาที่พร้อมถล่มลงมา” ได้ทุกเมื่อ.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม