ภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์ ผนังพระระเบียงวัดพระแก้ว กรุงเทพฯ ช่องหนึ่งที่มีคนกล่าวถึงกันมาก คือภาพสุครีพหักฉัตร...เราๆ ท่านๆ คงเคยเดินดูกันบ้าง

เพียงแต่ไม่รู้ว่าภาพนั้นเป็นฝีมือ ช่างอยู่ อินทร์มี ช่างเขียนเมืองเพชร มืออันดับต้นๆ ในแผ่นดินพระมงกุฎเกล้า ที่ได้รับคัดเลือกไปเขียนในโอกาสกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งมั่นครบ 150 ปี

วาระครบรอบ 86 ปี ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว เขียนไว้ในหนังสือ “สมบัติชีวิต” (สำนักพิมพ์พื้นภูมิเพชร นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว บก. พ.ศ.2565) ว่า ที่เมืองเพชรมีผลงานฝีมือช่างเดียวกัน ที่วัดโพธิ์ทัยมณี บางจาน

และที่วัดท้ายตลาด อำเภอเขาย้อย มีภาพรามสูร เมขลา อาจารย์ล้อมชวนเพื่อนไปดูเมื่อสามสิบปีที่แล้ว และครั้งหลังชวนลูกสาวไปดู ภาพก็ยังสดใสงดงามเหมือนเดิม

ภาพรามสูรเมขลา เขียนที่ผนังด้านหน้าพระประธานในผนังอุโบสถ

อาจารย์ล้อมบอกว่าตามประเพณีช่างไทย ผนังด้านหน้าพระประธาน มักจะเขียนภาพมารผจญ การเขียนภาพรามสูร เมขลาหน้าพระประธาน จึงเป็นการพลิกขนบและมีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย

ใครเคยไปกรุงเทพฯยืนอยู่กลางสนามหลวง หันหน้าเข้าหาวัดพระแก้ว จะเห็นพระบรมมหาราชวังในมุมกว้าง มีรัตนเจดีย์สีทองตระหง่านเสียดฟ้าทางขวา

นั่นคือฉากหลังเต็มผนังพื้นที่ผนังด้านหน้าพระประธานที่วัดท้ายตลาด มีรายละเอียดทั้งกำแพง อาคารปราสาทพระเทพบิดร มณฑป และพระปรางค์ที่รายเรียงงดงาม ดังภาพถ่ายสีมีสัดส่วนเหมือนจริงทุกประการ

เหนือท้องฟ้าขึ้นไปทางซ้ายสุด เป็นภาพนางเมขลาชูดวงแก้ว ส่องแสงเป็นประกายรัศมีไปทั่วท้องฟ้า

ด้านขวารามสูรกำลังเงื้อง่าเตรียมขว้างขวานเข้าใส่

ทุกอย่างได้สัดส่วนทั้งระยะและขนาดเหมาะเจาะ เป็นการออกแบบ ที่ลงตัวดียิ่ง

รามสูร เมขลา เป็นตัวละครในรามเกียรติ์ อันเป็นส่วนที่สร้างความเชื่อ เรื่องฟ้าแลบ (คือแสงแก้วมณีจากเมขลา) ฟ้าลั่น หรือฟ้าร้อง คือเสียงของขวานที่รามสูรขว้างออกไป

...

และฟ้าผ่า คือขวานโดนเป้าเข้าอย่างจัง

นี่คือบทอธิบาย ปรากฏการณ์ธรรมชาติของคนโบราณ เมขลามีหน้าที่รักษาน่านน้ำ คอยช่วยเหลือคนที่ลอยคออยู่ในมหาสมุทร (ดังเช่นพระมหาชนก)

ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ เปิดโฉมเมขลาว่า

“มาจะกล่าวบทไป ถึงนางมณีเมขลา อยู่ในวิมานรัตนา สำหรับรักษาสมุทรไท เคยไปประชุมด้วยเทวัญ เป็นนิจนิรันดร์หาขาดไม่ ครั้นถึงฤดูกำหนดไว้ อรทัยชื่นชมยินดี

แต่งองค์ทรงเครื่องอลงกรณ์ งามงอนจำรัสรัศมี มือถือดวงแก้วมณี เทวีก็ออกจากวิมาน ลงมาจากกลีบเมฆาเล่นด้วยนางฟ้าเกษมสานต์ เรื่อยร้องโอดพันบรรเลงลาน นงคราญรำร่ายไปมา”

ส่วนรามสูรคู่กัดเมขลามีบทว่า...

“มาจะกล่าวบทไปถึงรามสูรยักษ์ษา อาศัยในกลีบเมฆา เป็นที่ผาสุกสำราญ มีศรขวานเพชรเป็นอาวุธ ฤทธิรุทศักดากล้าหาญ ทั้งหกสวรรค์ชั้นบาดาล เกรงเดชขุนมารไม่ทันกร”

อาจารย์ล้อมไปชมภาพรามสูร เมขลา ที่วัดท้ายตลาดเงียบๆ เกิดจินตนาการถึงตำนานฟ้าแลบ ฟ้าลั่น ฟ้าผ่า แม้จะเลยหน้าฝนแล้วก็ยังเห็นแสงแปลบปลาบ ได้ยินเสียงฟ้าร้องในบรรยากาศครึ้มๆขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์

ส่วนคนรุ่นหลัง...ที่หลายคนยังไม่เคยได้ไปดู...แต่ตอนนี้ ก็มีเรื่องการเมืองตรงหน้าให้มโน

โธ่เอ๋ย น้องนางเมขลา เพิ่งรำล่อแก้วบนฟ้าได้ไม่ถึงสองเดือน... เจ้ารามสูร ยักษ์ษา ก็ประกาศว่าจะขว้างขวาน เอ๊ย! ชวนคนลงถนน เดินขบวนไล่กันแล้ว.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม