เดิมบ้านเราปลูกกล้วยไข่เพื่อการบริโภคในประเทศ แต่ปัจจุบันเริ่มส่งออกไปยังต่างประเทศ ปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 210.5 ล้านบาท

แต่กล้วยไข่มักเกิดปัญหาตกกระ ทำให้เก็บได้ไม่นาน ทีมนักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงคิดค้นวิธีการลดและชะลอการตกกระของผลกล้วยไข่ด้วยเมทิลซาลิไซเลต ผ่านการควบคุมการตายของเซลล์อย่างเป็นระบบจนประสบผลสำเร็จ

ทีมนักวิจัย ประกอบด้วย ผศ.ดร.กอบเกียรติ แสงนิล, ผศ.ดร.อุษรา ปัญญา และ นายสิรวิชญ์ โชติกะคาม นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาชีววิทยา ค้นพบการตกกระของผลกล้วยไข่ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการตายของเซลล์อย่างเป็นระบบ (programmed cell death) ที่ถูกกำหนดไว้แล้ว

ทั้งนี้ เป็นการตายของเซลล์เปลือกผลที่มีขั้นตอนและกระบวนการที่ถูกกระตุ้นโดยอนุพันธ์ออกซิเจนที่ว่องไว (reactive oxygen species) ผ่านวิถีไมโทคอนเดรีย ที่นำไปสู่การกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์แคสเปส (caspase) และเอนโดนิวคลีเอส (endonuclease) จนทำให้นิวเคลียสของเซลล์แตกออกเป็นส่วนเล็กๆ (nuclear fragmentation) และนำไปสู่การตายของเซลล์ในที่สุด

จากการวิจัยพบว่า เมื่อนำผลกล้วยไข่หลังการเก็บเกี่ยวมาแช่ในสารละลายเมทิลซาลิไซเลต (methyl salicylate) ความเข้มข้น 2 มิลลิโมลาร์ นาน 30 นาที สามารถลดและชะลออาการตกกระออกไปได้อีก 2 วัน

โดยมีผลส่งเสริมศักยภาพในการป้องกันออกซิเดชัน ช่วยรักษาโครงสร้าง-หน้าที่ของไมโทคอนเดรีย และลดการปลดปล่อยไซโตโคมซี (cytochrome c) ที่กระตุ้นการทำงานของแคสเปส

ทั้งนี้ งานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติแล้ว 2 เรื่อง และกำลังรอผลการตีพิมพ์อีก 1 เรื่อง ผลงานวิจัยนี้ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่แก่วงการการศึกษา และสร้างคุณค่านานัปการแก่การเกษตรไทยอย่างมาก

...

โดยงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นบันไดนำไปสู่การต่อยอดวิจัยในการพัฒนานำรูปแบบการใช้เมทิลซาลิไซเลตที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมการตกกระของผลกล้วยไข่ หรือการตายของเซลล์อย่างเป็นระบบ ที่เกิดกับผลไม้อื่นต่อไปในอนาคต.

สะ–เล–เต