วันนี้ 17 พฤษภาคม 2565 วันแรกที่สถานศึกษาทุกสังกัดพร้อมเปิดประตูรั้วต้อนรับนักเรียนเข้าสู่การเรียนในระบบโรงเรียนหรือออนไซต์ (On–Site) ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 อย่างเต็มรูปแบบทั่วประเทศเป็นครั้งแรก
หลังจากประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เยาวชนต้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์มากว่า 2 ปี และพบข้อมูลจากการศึกษาวิจัยถึงการเรียนรู้ของเด็กถดถอยอย่างน่าห่วง

และถึงวันนี้ เมื่อไวรัสร้ายโควิด-19 ที่ก่อความรุนแรงระบาดไปทั่วโลก เริ่มแผ่วอิทธิ ฤทธิ์ลง จนแนวโน้มผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลง ทั้งสถานการณ์เริ่มอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบสาธารณสุข รวมถึงความร่วมมือที่ดีของภาคประชาชน ส่งผลให้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถาน การณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ไม่รีรอที่จะเปิดไฟเขียวให้เด็กๆได้กลับเข้าไปสู่การเรียนในระบบโรงเรียนภายใต้การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมและสอดรับกับสถานการณ์ พร้อมกับมีการจัดทำมาตรการรับมืออย่างรอบด้าน
ทีมข่าวสาธารณสุข ขอทำหน้าที่ฉายภาพ มาตรการเปิดเรียน On-Site ปลอดภัยอยู่ได้กับโควิด-19 ในสถานศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่วมกันจัดทำ เพื่อความเข้าใจในทิศทางเดียวกันของทุกฝ่าย โดยการกำหนดให้สถานศึกษายึดถือปฏิบัติบนหลักการพื้นฐานคือ 3T 1V “ตัดความเสี่ยง เพิ่มภูมิคุ้มกัน” ซึ่งประกอบด้วย T : Thai Stop Covid Plus (TSC+) สถานศึกษาต้องประเมินตนเองเตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียน T : Thai Save Thai (TST) นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษามีการประเมินความเสี่ยงตนเองเป็นประจำ T : Test ตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังอย่างเหมาะสม เช่น ตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยงหรือมีอาการ และ V : Vaccine ครู บุคลากร ผู้ปกครอง และนักเรียน ได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามเกณฑ์พร้อมเน้นย้ำการปฏิบัติตามข้อกำหนด 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้ม อย่างเคร่งครัด อาทิ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก 100 % ล้างมือ ตรวจเชื้อด้วย ATK เมื่อมีอาการหรือเสี่ยง รวมถึงการดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ เมื่อพบผู้ติดเชื้อหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยเน้นย้ำไม่มีการปิดชั้นเรียนหรือโรงเรียน เป้าประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน
...

สำหรับ แผนเผชิญเหตุเปิดเรียน On-Site ในการดูแลกลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อ จำแนกเป็นดังนี้ โรงเรียนประจำ เน้นมาตรการ Sandbox Safeyt Zone in School (SSS) กรณีครูนักเรียนหรือบุคลากรเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้เปิดเรียน On-Site ตามปกติ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองครอบจักรวาล (Universal Prevention-UP) ประเมิน Thai Save Thai (TST) เว้นระยะห่างของนักเรียนในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 1 เมตร
กรณีครูนักเรียนหรือบุคลากรเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้จัดการเรียนการสอน ปฏิบัติงาน ทำกิจกรรมใน Quarantine Zone ตามมาตรการ SSS เป็นเวลา 5 วัน และติดตามสังเกตอาการอีก 5 วัน กรณีได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบตามคำแนะนำปัจจุบันและไม่มีอาการไม่แนะนำให้กักกัน แต่ให้ตรวจคัดกรองหาเชื้อด้วย ATK ถ้ามีอาการให้ตรวจทันทีให้ตรวจครั้งที่ 1 วันที่ 5 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ และตรวจครั้งสุดท้ายวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ

กรณีครูนักเรียนหรือบุคลากรเป็นผู้ติดเชื้อ ให้พิจารณาร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุขแยกกักตัวที่โรงเรียน (School Isolation) ปฏิบัติตนตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข โดยพิจารณาร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กรณีไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จัดการเรียนการสอนได้ตามความเหมาะสม เว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตร งดกิจกรรมรวมกลุ่ม เน้นการระบายอากาศ โดยปฏิบัติตาม Universal Prevention-DMHTA อย่างเคร่งครัด ติดต่อหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ตามระบบงานอนามัยโรงเรียน เน้นทำความสะอาดห้องเรียน ชั้นเรียน สถานศึกษาตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และเปิดเรียนตามปกติ
โรงเรียนไป-กลับ กรณีครูนักเรียนหรือบุคลากรเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ สามารถเรียนในพื้นที่สถานศึกษา On-Site ตามปกติ ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention ประเมิน TST จัดระยะห่างระหว่างนักเรียนในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 1 เมตร

กรณีครูนักเรียนหรือบุคลากรเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หากไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามแนวทางปัจจุบัน ทั้งมีอาการและไม่มีอาการ แนะนำให้กักตัว (Self Quarantine) เป็นเวลา 5 วัน และติดตามเฝ้าระวังอีก 5 วัน กรณีได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบตามคำแนะนำปัจจุบันและ ไม่มีอาการ ไม่แนะนำกักกัน และพิจารณาให้ไปเรียนได้ โดยให้ตรวจคัดกรองหาเชื้อด้วย ATK ถ้ามีอาการให้ตรวจทันที ให้ตรวจครั้งที่ 1 วันที่ 5 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อและตรวจครั้งสุดท้ายวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อโดยสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม เว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตร (เสี่ยงสูงและติดเชื้อ) และประสานหน่วยบริการสาธารณสุขตามระบบงานอนามัยโรงเรียน
...
กรณีครูนักเรียนหรือบุคลากรเป็นผู้ติดเชื้อ ให้แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของสถานบริการสาธารณสุข พิจารณาจัดทำ School Isolation โดยคณะกรรมการสถานศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด จัดรูปแบบการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีอาการ และเน้นทำความสะอาดห้องเรียน ชั้นเรียน สถานศึกษา และเปิดเรียนตามปกติ

ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่าด้วย มาตรการ 3T 1V “ตัดความเสี่ยง เพิ่มภูมิคุ้มกัน” รวมถึงแผนเผชิญเหตุ น่าจะพอสร้างความมั่นใจในการเปิดเรียน On-Site ได้ในระดับหนึ่ง
แต่สิ่งที่เราห่วงและต้องฝากทุกภาคส่วน คือการร่วมมือป้องกันและแก้ปัญหาตามแผนเผชิญเหตุ ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง ตลอดจนตัวนักเรียนเอง โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่เชื้อในโรงเรียน นั่นคือการถอดหน้ากากกินข้าวร่วมกัน การสนทนากันหรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมโดยไม่สวมหน้ากาก ดังนั้น มาตรการส่วนบุคคลโดยการป้องกันตนเองครอบจักรวาล ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติอย่างจริงจังและเคร่งครัด ร่วมกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครบตามเกณฑ์
...
เพื่อปรับตัวเรียนรู้อยู่กับโควิด-19 อย่างปลอดภัย ป้องกันมิให้เกิดคลัสเตอร์โรงเรียน และต้องกลับมาปิดเรียนลดทอนการเรียนรู้เด็กลงไปอีก
ที่สำคัญนี่ถือเป็นอีกบทพิสูจน์ความพร้อมในการปรับให้โรคโควิด-19 ก้าวสู่โรคประจำถิ่นของประเทศไทย...
ทีมข่าวสาธารณสุข