ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 65 ล้านไร่ มีตอซังและฟางข้าว 42.35 ล้านตัน ปรากฏว่าพื้นที่ปลูกข้าว 69% หรือ 44.85 ล้านไทย เกษตรกรยังนิยมเผาตอซังและฟางข้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการก่อให้เกิดมลพิษฝุ่นพีเอ็ม 2.5
ไม่เพียงเท่านั้น การเผาตอซังฟางข้าว 29.15 ล้านตันต่อปี ยังเป็นการทำลายโครงสร้างดิน ทำลายจุลินทรีย์ และยังทำลายธาตุอาหารหลักของพืช ทั้งไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โปแตสเซียม (K) ไปกับการเผา คิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 11,468 ล้านบาท
เพราะในตอซังฟางข้าวมีธาตุอาหารหลัก ไนโตรเจน 0.51% ฟอสฟอรัส 0.14% โปแตสเซียม 0.17% และยังมีธาตุอาหารรองของพืช แคลเซียม 0.47% แมกนีเซียม 0.25% ซัลเฟอร์ 0.17%
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04abk1g86Om5zFcfBboXpVHqwZp1OpM1.jpg)
และทั้งที่ผ่านมา ภาครัฐมีการรณรงค์ให้เลิกเผาตอซังมานานหลายปีดีดัก แต่ดูเหมือนการรณรงค์ยังค่อยไม่ได้ผลเท่าใดนัก...ชาวนายังคงเผาตอซังอยู่เช่นเดิม นั่นเป็นเพราะอะไร
“ปัญหาหลักเกิดจากพื้นที่ทำนาปลูกข้าวได้ปีละครั้ง หลังจากเก็บเกี่ยวชาวนาจะปล่อยตอซังทิ้งไว้ในนานานหลายเดือน รอจนกว่าจะถึงฤดูทำนาถึงจะมีการไถนา การปล่อยทิ้งไว้นานทำให้ดินแห้งแน่นแข็ง ไถไม่ค่อยลง ประกอบกับการทำนายุคนี้ไม่เหมือนอดีตที่ใช้ควายไถนา จะใช้ผานไถหัวหมูที่ไถพลิกหน้าดินกลบตอซังได้ดี แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาใช้รถแทรกเตอร์ไถนา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องผานไถที่นำมาใช้ไม่สามารถไถกลบตอซังได้
...
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04abk1g86Om5zFcfBbKXjj4UuCFKO3BQ.jpg)
เพราะรถแทรกเตอร์ที่นำมาใช้กับการทำนาจะมีขนาด 30-50 แรงม้า รถแทรกเตอร์ขนาดนี้จะมีผานไถอยู่แค่ 2 แบบ คือ ผานไถจาน กับผานไถโรตารี ซึ่งเป็นผานไถที่เหมาะกับการนำมาใช้ในพื้นที่ไม่มีตอซัง เมื่อนำมาใช้กับนาที่มีตอซัง จะไม่สามารถขุด พลิกดินชั้นล่างให้ขึ้นมากลบตอซังได้ เพราะมีตอซังหนุนผานไถให้ลอยตัวไม่กดลงไปถึง ดินไถไปแล้ว ชาวนาที่ทำนาหว่านแห้ง หว่านเมล็ดพันธุ์ไปแล้วจะค้างอยู่บนตอซัง ข้าวไม่งอก ถ้าจะไถแบบให้ข้าวงอกได้จะต้องใช้เวลาไถนาน ไถซ้ำไปมาหลายหน มันเลยทำให้เจ้าของรถแทรกเตอร์ไม่ยอมมาไถนาให้ ถ้าชาวนาไม่เผาตอซังรอไว้ก่อน”
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04abk1g86Om5zFcfBbhY8T3ruvVahIVO.jpg)
ผศ.ดร.อัดชา เหมันต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ชี้ให้เห็นถึงปัญหา ทำไมการรณรงค์ให้เลิกเผาตอซังถึงไม่ค่อยได้ผล เพราะชาวนาขาดอุปกรณ์ที่เหมาะสม นั่นคือ ขาดผานไถหัวหมูที่เหมาะกับรถแทรกเตอร์ขนาด 30–50 แรงม้า เพราะผานไถหัวหมูที่มีการผลิตขายกันนั้น จะมีขนาดให้เหมาะกับรถแทรกเตอร์ขนาด 90 แรงม้าขึ้นไป
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04abk1g86Om5zFcfBbN8Qvbh4kcTGYWS.jpg)
ด้วยเหตุนี้ ดร.อัดชา จึงคิดประดิษฐ์ออกแบบผานไถหัวหมู 3 แถว ติดท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดเล็กขึ้นมา โดยมีโครงไถกว้าง 120 ซม. ยาว 170 ซม. สูง 106 ซม. น้ำหนัก 120 กก. มีมุมโครงไถอยู่ที่ 45 องศา หัวไถแต่ละหัวสามารถปรับตั้งมุมในการไถได้สะดวก และสามารถถอดประกอบได้ด้วย มีต้นทุนอยู่ที่ชุดละ 38,000 บาท...มีศักยภาพในการไถติดท้ายรถแทรกเตอร์ขนาด 34 แรงม้า อยู่ที่ชั่วโมงละ 2.08 ไร่ มีประสิทธิภาพในการไถอยู่ที่ 90.68% และประสิทธิภาพในการทำงาน 57.69%
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04abk1g86Om5zFcfBbeSrZgqLmeVm9iy.jpg)
...
และเมื่อนำผานไถนี้ไปใช้ในโครงการ เลิกเผานาแล้วหันมาไถกลบตอซัง ร่วมกันเป็นตำบลต้นแบบปลอดการเผา อันเป็นโครงการความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, ศปป.4 กอ.รมน., มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และสำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในพื้นที่นา 3,000 ไร่ ของเกษตรกร 600 ราย 8 ตำบล 7 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเผาตอซังมากที่สุดในประเทศไทย
ปรากฏว่า เมื่อนำไปติดตั้งกับแทรกเตอร์ขนาด 50 แรงม้า ทำให้มีประสิทธิภาพการ กลบสูงถึง 92% และมีความสามารถในการไถกลบชั่วโมงละ 3.5 ไร่
สนใจชุดผานไถหัวหมูสำหรับไถกลบตอซัง ติดท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก สอบถามได้ที่ 08-0009-8640.
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04abk1g86Om5zFcfBbTrDqGFRjEqQsRs.jpg)
ชาติชาย ศิริพัฒน์