เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2565 ถูกหั่นลดลงเกือบครึ่งจากปีก่อน กลายเป็นประเด็นร้อน อันไม่สอดคล้องจาก “ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” ที่มาพร้อมกับการก่อมลพิษทางน้ำ อากาศ และทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นรวดเร็ว
ล้วนเป็นต้นเหตุก่อให้เกิด “อากาศแปรปรวนนำมาซึ่งภัยพิบัติรุนแรง...มลพิษสิ่งแวดล้อม” ขยายเป็นวงกว้างเพิ่มยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตที่ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนเมืองตามมา
แม้แต่ “วิกฤติโควิด-19” ก็ยังมีผลกระทบต่อ “สิ่งแวดล้อม” มากมายเช่นกัน จากการบริการจัดส่งอาหารเป็นเหตุให้ “ขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” และ “ขยะมูลฝอยติดเชื้อ” เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ไม่เท่านั้น “หลังวิกฤติโควิด-19” แผนพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจในหลายโครงการมุ่งกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคเศรษฐกิจใหม่ด้วยการสนับสนุนการลงทุนพลิกฟื้นครอบคลุมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน ที่จะเป็นนโยบายสุ่มเสี่ยงเอื้อประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมทำลายสิ่งแวดล้อม
ซ้ำร้าย...ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่เข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรวาระแรกที่เสร็จสิ้นไปแล้ว ตามในเล่มร่าง พ.ร.บ.งบประมาณโดยสังเขป สำนักงบประมาณ ปรากฏพบว่า งบประมาณรายจ่ายด้านสิ่งแวดล้อมปี 2565 ถูกหั่นลดลงจาก 16,143 ล้านบาท ปี 2564 เหลือ 8,534 ล้านบาท
คิดเป็นร้อยละ 0.275 ของงบประมาณรายจ่ายรวม ลดลงถึง 47.14% จนถูกมองว่างบประมาณนี้ไม่สอดคล้องกับสภาพการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยทุกวันนี้
...
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร บอกว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยถูกทำลายลงค่อนข้างเยอะมาก แต่ตามแผนงบประมาณดูแลรักษาก็มีทิศทางเพิ่มขึ้นมาตลอด ตั้งแต่ปี 2560 ได้รับงบประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาท ปี 2561 ได้รับงบ 8.5 พันล้านบาท ปี 2562 ได้รับงบ 1 หมื่นกว่าล้านบาท ปี 2563 ได้รับงบ 1.2 หมื่นล้านบาท ปี 2564 ได้รับงบ 1.6 หมื่นล้านบาท

แต่ว่า “ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2565” เพิ่งผ่านวาระ 1 ของรัฐสภาไปหมาดๆ ปรากฏงบประมาณสิ่งแวดล้อมลดลงกว่า 47% ถ้าเทียบปีก่อนแล้ว แม้ว่า “ทุกกระทรวง” จะโดนปรับลดงบประมาณเกือบทั้งหมดเช่นกัน เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ก็ถูกหั่นบวกลบกันแล้ว ไม่น่าเกิน 10% ด้วยซ้ำ
มองว่าการตัดงบสิ่งแวดล้อมเกือบครึ่งที่ไม่สมเหตุสมผล “จนดูแล้วน่าตกใจ” จะมีผลกระทบต่อ “การบริหารงานประจำ” ไม่อาจทำเต็มประสิทธิภาพได้ เพราะตามปกติงบด้านสิ่งแวดล้อมก็น้อยอยู่แล้ว
สะท้อนว่า “รัฐบาล” ให้ความสำคัญแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมชั่วครั้งชั่วคราว เพราะตัดงบมากขนาดนี้เสมือน “หยุดบริหาร 1 ปี” ทำให้งานทำมาไม่ต่อเนื่อง และ “สิ่งแวดล้อม” ก็ถูกทำลายเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ
ก่อนหน้านี้มีการจัดอันดับคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ “ประเทศไทย” ถูกจัดอยู่ในลำดับ 78 จาก 180 ประเทศ ลักษณะสวนทางกับขนาดเศรษฐกิจวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเบื้องต้น (GDP) อยู่ในอันดับ 23 ของโลก แต่กลับมีปัญหามลพิษที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนอีกมาก
ไม่ว่าจะเป็นมลพิษอากาศพีเอ็ม 2.5 อยู่อันดับ 88 ของโลกจาก 180 ประเทศ สภาพอากาศดีอยู่อันดับ 85 ปัญหาการกำจัดขยะอยู่ที่ 84 มลพิษจากโอโซนบนภาคพื้นดินอยู่ที่ 102 และคุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ 78
การอนุรักษ์ระบบนิเวศและบริการของระบบนิเวศอยู่อันดับที่ 101 ความหลากหลายทางชีวภาพและที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตรั้งท้ายอยู่ในอันดับที่ 114 ทำให้มีคำถามว่าเราพอใจแล้วใช่หรือไม่

...
อันเกิดจากประเด็น “งบประมาณการป้องกันประเทศ และรักษาความสงบภายใน” ถูกปรับลดเพียง 6.02% ทั้งที่ยามนี้ไม่มี “สงคราม” ที่มีความจำเป็นต้องคงงบมากขนาดนี้ แต่ตอนนี้มี “โรคระบาดหนัก” ที่ควรต้องเพิ่มงบสนับสนุนระบบสาธารณสุขด้วยซ้ำ แต่กลับถูกมองข้าม ถูกตัดงบประมาณเสียอีก
เช่นเดียวกับ “ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ที่กำลังถูกทำลายเสื่อมโทรมลงทุกวัน แต่ก็ถูกตัดงบประมาณลดลง 47% ดังนั้นความเห็นส่วนตัวแล้ว “งบด้านการป้องกันประเทศ” น่าจะลดลงได้อีก เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปปรับเพิ่ม ช่วยงานในส่วนสำคัญจำเป็น เร่งด่วนก็ได้
สาเหตุอาจเป็นเพราะ “สิ่งแวดล้อม” พูดแทนใครไม่ได้ และไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนหนึ่งคนใดโดยตรง ทำให้มักไม่เห็น “คุณค่า” ทั้งที่จริงแล้วเป็นปัจจัยสำคัญ “กระบวนการผลิตให้บริการแก่ประเทศ” อันมีลักษณะเป็นของสาธารณะ “คนในประเทศเป็นเจ้าของร่วมกัน” ในการใช้ทรัพยากรนี้
ทำให้ถูกใช้ประโยชน์มากเกินรองรับแล้วแต่กลับ “ไม่มีการบำรุง อนุรักษ์” กลายเป็นสินค้าสาธารณะที่ไม่มีใครอยากลงทุน “ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม” ทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์ “สิ่งแวดล้อมเสมือนเป็นสินค้าคุณภาพที่ไม่ผ่านกลไกการตลาด” ทำให้ถูกมองไม่มีคุณค่าเท่าที่ควร จนถูกหั่นงบประมาณมากตามมา
จริงแล้วเป็น “ปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิต” อันเป็น “ต้นทุนให้คนรากหญ้า” ใช้ประโยชน์ที่ไม่ใช่เฉพาะคนยุคนี้ แต่หมายถึงต้นทุนให้คนยุคอนาคต ไม่ควรคิดเฉพาะปัจจุบัน ต้องคิดถึงประชากรรุ่นต่อไปด้วย
...

เพราะหากไม่มีงบบำบัดฟื้นฟูเช่นนี้ในอนาคตเราต้องอยู่กับ “สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมแย่ลงเรื่อยๆ” ดังนั้นแล้ว “ภาคประชาสังคม” คงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างในการดูแลปกปักรักษาคงไว้
ถ้าเปรียบเทียบกับสัดส่วน GDP ที่มีต่อการสนับสนุนสิ่งแวดล้อม “สหภาพยุโรปในทุก 100 บาท” มักจ่ายให้สิ่งแวดล้อมราว 70 สตางค์ “ประเทศไทย” จ่ายให้เฉลี่ย 27 สตางค์ เพราะมุ่งเน้นเฉพาะ “เศรษฐกิจ” ที่ไม่สอดคล้องสมดุลกับ “สิ่งแวดล้อม” อันจะส่งผลให้เกิดความไม่ยั่งยืนในการพัฒนาประเทศต่อไปก็ได้
ตอกย้ำว่าที่ผ่านมา “การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม” มีการพัฒนาดีขึ้นอย่างช้ามาตลอด แต่ก็ต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนงานคงค้างให้ต่อเนื่อง เพราะ “สิ่งแวดล้อม” เป็นเสมือนสินค้าที่คนไทยเป็นเจ้าของ สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้น “ภาครัฐ” ต้องมีบทบาทสำคัญ ต้องเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูอย่างเต็มที่ด้วยซ้ำ
...
ประการนี้แล้วหาก “คนไทย” ต้องการอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี “งบประมาณ” ก็มีความจำเป็นต้องอุดหนุนให้แผนงานเดิมและแผนงานใหม่สามารถขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ ยกเว้นพอใจกับสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติกในทะเลติดอันดับ 2 ของโลกแล้วก็ไม่ต้องการพัฒนากันต่อไป
ผลตามมาคือ “ความเหลื่อมล้ำ” จะทวีความรุนแรง โดยเฉพาะ “คนสถานะทางเศรษฐกิจไม่ดี” มักไม่มีประสิทธิภาพในการปกป้องสุขภาพที่ดีได้ ส่งผลให้ “คุณภาพชีวิตแย่ลงเรื่อยๆ” ดังนั้น ถ้า “สิ่งแวดล้อม” ถูกมองข้ามก็ย่อมมีผลให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเพิ่มสูงขึ้นตามมาแน่นอน
อย่างเช่น “ปัญหาฝุ่น PM 2.5” คนมีฐานะดีก็ซื้อหน้ากากป้องกันไม่จำกัด มีเครื่องฟอกอากาศ ติดตั้งแอร์ ส่วน “คนจน” เปิดอากาศรับลม ไม่มีเครื่องฟอก ดังนั้น สิ่งแวดล้อมจะทำให้ความเหลื่อมล้ำบานออกไปย้อนมา “ทำร้ายมนุษย์” เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ “ภูมิอากาศแปรปรวน” มีอิทธิพลต่อภัยพิบัติรุนแรงเห็นได้ชัดทุกวัน
“ประเทศไทย” มีเครื่องมือรองรับภัยธรรมชาติในอนาคตมากเพียงใดภายใต้งบประมาณลดลงมากขนาดนี้เสมือนว่า “ตกอยู่สถานการณ์ตั้งรับ” ทั้งที่จริงแล้ว “ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน” ป้องกันภัยธรรมชาติไว้ก่อน

เมื่อเป็นเช่นนี้คง “ไม่อาจหวังพึ่งงบประมาณ” ต้องสร้างความตระหนักให้ “สังคมมีจิตสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อมกันให้มาก” เพราะอย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาผลกระทบอาจจะย้อนกลับมาทำลายเราให้น้อยลงก็ได้
ดังว่ามานี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่ามองเป็นเรื่องไกลตัว เพราะมีสัญญาณให้เผชิญกันอยู่ ทั้งอากาศร้อนจัด หนาวจัด และภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรง อันเป็นผลพวงที่ได้รับจากวิกฤติสิ่งแวดล้อม ย้อนกลับมาทำร้ายเราแล้วทั้งสิ้น.