มือ...เป็นช่องทางทำให้คนทั่วไปมีโอกาสได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 มากที่สุด
หนทางที่จะหยุดการแพร่ระบาด เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เป็นเครื่องมือที่สำคัญ...แต่วันนี้ทั้งหายากและแพง ไม่แพ้หน้ากากอนามัย
นั่นเป็นเพราะการผลิตแอลกอฮอล์เพื่อการสาธารณสุข กฎหมายบ้านเราให้สิทธิองค์การสุรา หน่วยงานของรัฐ ผูกขาดการผลิตได้แต่เพียงผู้เดียว ...ทั้งที่เรามีโรงงานผลิตเอทานอล หรือแอลกอฮอล์ 99.5% ที่ได้มาจากอ้อย และมันสำปะหลัง มากถึง 26 โรง มีกำลังผลิตรวมสูงถึงวันละ 6.25 ล้านลิตร สามารถนำมาทำเป็นแอลกอฮอล์ 70% สำหรับฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้


...
แต่โรงงานเหล่านี้ทำไม่ได้ เนื่องจากประกาศกระทรวงการคลังที่บังคับใช้มาตั้งแต่ 24 ก.ย.2550...ทุกโรงงานที่ผลิตเอทานอล ต้องผลิตเพื่อนำไปผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น
และยังบังคับละเอียด หากจะขนเอทานอลที่ผลิตได้ออกจากโรงงาน จะต้องนำไปผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ให้เรียบร้อยเสียก่อน ถึงจะเอาไปขายได้
เรียกว่า...คุมไม่ให้แอลกอฮอล์ที่กินได้ตกหล่นออกไปผสมทำเป็นเหล้า...ส่วนจะมีเจตนาคุมเข้มเพื่อไม่ให้เอาไปผลิตเหล้ามาขายแข่งกับเจ้าใหญ่หรือไม่ แล้วแต่จะคิดกัน

เลยทำให้วิกฤติโควิด-19 ขาดแคลนแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เจลล้างมือ...เป็นไปตามกลไกตลาด ความต้องการมีสูง แต่รัฐวิสาหกิจมีกำลังผลิตต่ำ
“ถ้ารัฐบาลใช้อำนาจฝ่ายบริหารแก้ประกาศฯ ไม่เพียงภาวะขาดแคลนจะหมดไป ยังทำให้เกษตรกรปลูกอ้อย มันสำปะหลัง มีรายได้เพิ่มเติมเข้ากระเป๋าอีกไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1 พันล้านบาท โดยไม่ต้องกลัวว่าเอทานอลที่จะนำมาผลิตแก๊สโซฮอล์จะขาดแคลน เพราะทุกวันนี้โรงงานทั้ง 26 โรง ยังใช้กำลังผลิตไม่เต็มที่ มีกำลังผลิตที่ไม่ได้ใช้อยู่อีกวันละ 1.8 ล้านลิตร แถมปัจจุบันมีสต๊อกเอทานอลเหลือเก็บอยู่ในคลังโรงงานอีกกว่า 100 ล้านลิตร สามารถนำมาผลิตเป็นแอลกอฮอล์ 70% ฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ทันที ไม่น้อยกว่า 150 ล้านลิตร”

ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล อดีตฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ บอกอีกว่า ในภาวะวิกฤติแทนที่รัฐบาลจะรีบแก้ประกาศฯ เพื่อให้มีแอลกอฮอล์ออกมาจำหน่ายมาก กลับมีการออกประกาศกรมสรรพสามิต เมื่อ 6 มี.ค.2563...เรื่องเอาสุราสามทับ (แอลกอฮอล์ 80% ขึ้นไป) มาทำเป็นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโดยไม่ต้องเสียภาษี
มองเผินๆเหมือนจะดี...แต่เมื่อดูรายละเอียด กลับสร้างปัญหาให้วุ่นวายหนักขึ้นไปอีก

...
“ไม่ได้ช่วยให้ภาวะขาดแคลนดีขึ้น เพราะเป็นการอนุญาตให้ทำแอลกอฮอล์มาแจกฟรี แต่มีข้อกำหนดที่ยุ่งยาก ผู้ผลิตจะต้องขออนุญาต คนที่ได้รับแจกจะต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ ถ้าไม่ใช่ต้องขออนุญาตจากผู้ว่าฯ สาธารณสุขจังหวัด แต่ขอได้ครั้งละไม่เกิน 5,000 ลิตร ไม่ได้วุ่นวายแค่ขออนุญาตผลิตและรับแจกเท่านั้น ยังต้องไปขอเลขจดแจ้งจาก อย.อีกต่างหาก คิดดูกว่าจะได้ต้องเสียเวลาไปเท่าไร แล้วโรงงานผลิตเอทานอลที่ไหนเขาจะไปลงทุนให้วุ่นวาย ในเมื่อไม่ได้อะไรตอบแทน”
สรุปแล้ว ประกาศฯนี้ออกมาเพื่ออะไร จะให้ผลิตหรือไม่อยากให้ผลิตกันแน่...เอาเวลาไปคิดทำอะไรอย่างอื่นที่มีประโยชน์มากกว่าไม่ดีกว่ารึ.
ชาติชาย ศิริพัฒน์