เมื่อเร็วๆมานี้เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่องแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562

มีผลมาจากมาตรา 30 ตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ที่ให้จัดทำผังเมืองอีอีซี...แล้วเสร็จใน 1 ปี นับแต่วันที่คณะกรรมการนโยบายฯให้ความเห็นชอบแผนนั้น

ท่ามกลางเสียงคัดค้านของนักวิชาการ และชาวบ้านในพื้นที่มีความวิตกถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงผังเมืองนี้ ทั้งด้านระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชุมชน เพราะไม่เคยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง

สาระสำคัญประกาศนี้...มีการกำหนดหลักการในการวางและจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค วัตถุประสงค์การจัดทำแผนผัง เพื่อส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการสาธารณูปโภค

ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบบการควบคุมขจัดมลภาวะ แผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง และแผนผังระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคมแผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ แผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย
และกำหนดนโยบายมาตรการ วิธีดำเนินการเพื่อปฏิบัติตาม

วัตถุประสงค์ ซึ่งให้ใช้บังคับแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค เขต พัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในท้องที่ จ.ฉะเชิงเทรา กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง

นั่นหมายความว่า...“ผังเมืองเดิม” ต้องเป็น “อันยกเลิก” และจัดทำผังเมืองขึ้นใหม่ให้สอดคล้อง “ผังเมืองอีอีซี” ในระหว่างที่จัดทำผังเมืองใหม่ไม่เสร็จ ถือว่าผังเมืองอีอีซีเป็นผังเมืองรวมตามกฎหมาย

...

สาระสำคัญของแผนผังอีอีซีนี้ ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ มีความเห็นว่า ในการวางผังเมืองสร้างเมืองใหม่ต้องคำนึงถึงลำดับความสำคัญของพื้นที่ที่เป็นที่ตั้ง ทั้งภูมิศาสตร์ ประชากร ทรัพยากรในพื้นที่ รวมถึงในเรื่องเศรษฐกิจของเมือง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเมือง

โดยเฉพาะความคิดเห็นของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบให้สามารถปรับตัวอยู่ในพื้นที่ตามความเหมาะ ที่ไม่ใช่รัฐบาลสามารถสั่งให้เกิดเมืองใหม่ขึ้นได้ภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปีนี้

ทว่า...ต้องเกิดจากศักยภาพ “ด้านเศรษฐกิจ” เป็นตัวกำหนด ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขยายพื้นที่ ตามความเติบโตเจริญก้าวหน้าของจำนวนประชากร หรือทรัพยากรที่มีอยู่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยภายนอกเป็นตัวเชื่อมโยง ในเรื่องชุมทางของระบบคมนาคม ต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่สามารถกำหนดได้ในทีเดียวเช่นตอนนี้...

ยกตัวอย่าง กรุงเทพฯ เดิมก็ไม่มีความเจริญเช่นปัจจุบันนี้ แต่ด้วยเป็นศูนย์กลางการลงทุนซื้อขายทางการค้า ทำให้ประชากรเข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการพัฒนาแตกขยายเมืองตามลำดับขั้นใช้เวลากว่า 100 ปี ที่มีการวางผังเมืองไว้ก่อนล่วงหน้า...

มีประเด็นน่าสนใจ...ในการพัฒนาโครงการเมืองใหม่นี้กลับมีนายทุนใหญ่ ประกาศมีแผนลงทุนสร้างเป็น “เมืองสมาร์ทซิตี้” ใน จ.ฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ 10,000 ไร่...ตาม พ.ร.บ.อีอีซี ม.37...ให้คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ให้สิทธิ หรือให้สัมปทานแก่บุคคล ซึ่งดำเนินการอันเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก...

“หมายความว่า...“กระบวนการอนุญาต” ยกอำนาจให้กับคณะกรรมการนโยบายฯเป็นผู้พิจารณาได้ทันที ซึ่งเป็นการให้อำนาจซ้อนอำนาจรัฐอยู่ในตัว มีลักษณะเป็นคณะรัฐมนตรีชุดย่อย ที่เปรียบเสมือน “สหพันธรัฐ” มีอำนาจเฉพาะตัวในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” ชวพงศ์ว่า

มองว่า...เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าห่วงมาก เพราะคณะกรรมการนโยบายฯ สามารถอนุมัติให้อะไรกับใครเมื่อไรก็ได้ และในวันข้างหน้า...ก็มีอำนาจก้าวเลยออกไปยังภายนอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หากมีโครงการใด มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก...

เช่น กรณีการนำพื้นที่มักกะสัน 150 ไร่ และพื้นที่โดยรอบสถานีศรีราชา 25 ไร่ ผนวกเข้ากับการพัฒนาพื้นที่สนับสนุนการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เคยพูดไว้ว่า...โครงการนี้ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี แต่คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการนโยบายฯ กลับกลายเป็นคณะเดียวกันอยู่ในวันนี้

และมีคำถามต่อว่า...ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบ? ดังนั้น ความในมาตรา 37 ถือว่า เป็นหัวใจสาระสำคัญของ พ.ร.บ.อีอีซี ที่อาจถูกมองว่า ...ทำให้พื้นที่อีอีซีแยกจากประเทศไทยได้หรือไม่

และไม่เข้าใจว่า “นักกฎหมาย” มีการโต้แย้งในเนื้อหากันหรือไม่

ย้อนกลับมาที่เรื่องเมืองสมาร์ทซิตี้...ที่มีนายทุนใหญ่ประกาศลงทุน...เมื่อมีการลงทุนเกิดขึ้นเช่นนี้คงไม่มีใครซื้อที่ดินไร่ละ 1 ล้านบาท นำมาใช้ทำพื้นที่สาธารณะโดยไม่มีรายได้ หรืออาจหันมาเก็บค่าที่อยู่อาศัยทดแทน

...

ทำให้เมืองสมาร์ทซิตี้ อาจเป็นเมืองที่ไม่ใช่ของคนพื้นที่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป เพราะมีค่าเช่า หรือค่าใช้จ่ายแพงมากถึงขนาดที่ว่า...คนไทยบางคนอาจไม่มีกำลังทรัพย์สามารถเข้าไปได้

กลายเป็นว่า...“คนพื้นที่ดังเดิม” ถูกผลักให้ออกนอกพื้นที่ไป และเตรียมพื้นที่ให้คนต่างชาติ มีศักยภาพรายได้ที่เพียงพอต่อการครองชีพในเขตเมืองสมาร์ทซิตี้ เข้ามาอาศัยแทน หากคำนวณแล้วต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1 แสนบาท ทั้งค่าเดินทางรถไฟความเร็วสูง ค่าเช่าที่พัก ค่าครองชีพ เป็นต้น

สามารถตีความได้ว่า...เมืองสมาร์ทซิตี้นี้ ไม่ได้ทำเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนพื้นที่จริง...

ต้องเข้าใจว่า....วิถีชีวิตของคนชนบทมีรูปแบบการทำมาหากินตามธรรมชาติของชาวบ้านในพื้นที่ แต่รัฐบาลกลับไปไล่ชาวบ้าน นำบุคคลที่ไม่ใช่พลเมืองไทยด้วยซ้ำเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านของพวกเขา ทำให้ไม่มีพื้นที่ในการทำมาหากิน เพราะถูกทำลายกลายเป็นเมืองใหม่ หรือเมืองอุตสาหกรรมแทน

สิ่งที่น่าคิด...“นายทุน” มีอำนาจบริหาร “เมืองสมาร์ทซิตี้” ส่งต่อให้ลูกหลานยาวถึง 99 ปี เพราะ พ.ร.บ.อีอีซี เปิดให้การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า 50 ปี ต่อสัญญาได้ 49 ปี ทำให้พื้นที่ทั้งหมดอาจถูกกำกับด้วยกลุ่มนายทุน

ในความเห็นส่วนตัว...ไม่เคยมีความเชื่อในเรื่องทฤษฎีการสร้างเมืองใหม่ แต่มีความเชื่อในทฤษฎีปรับปรุงขยายเมืองเดิมที่มีอยู่ ด้วยการสร้างแหล่งอาชีพขึ้นมาเพิ่มอีก พัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ จะทำให้สามารถขยับขยายเมืองได้ดีกว่าการสร้างเมือง ที่ต้องลงทุนใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

ขอย้ำว่า...ตามหลักของเมืองนั้น...ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ มีการเติบโตตามกลไกด้านเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้เกิดจากการสั่งการให้เกิดขึ้นได้ทันทีทันใด เพราะอาจนำมาสู่การเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วได้...

...

ยกตัวอย่าง...“เมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา” เคยเติบโตอย่างรวดเร็ว มีโรงงานผลิตรถขยายขึ้นเรื่อยๆ ก่อนประสบภาวะขาดทุน มีการไล่พนักงานออก และปรับลดค่าแรง มีคนตกงานมากขึ้น กลายเป็นเมืองอาชญากรรมสูง เมื่อสภาพสังคมไม่ดีก็เป็นผลให้คนไหลออกจากดีทรอยต์ไปอาศัยอยู่ที่อื่นมากขึ้นเรื่อยๆ

การบริหารเขตอีอีซีซ้อนอำนาจรัฐแบบนี้ เปิดอำนาจให้สัมปทานกับใครก็ได้ อาจทำให้การบริหารจัดการพื้นที่ตกอยู่ในมือผู้รับสัมปทาน หรือกลุ่มนายทุน สามารถออกกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่อย่างไรก็ได้

หากเป็นเช่นนี้ ในอนาคตหน่วยงานภาครัฐคงไม่มีอำนาจในพื้นที่นี้ แม้แต่การเข้าไปตรวจสอบก็ต้องขออนุญาตนายทุนก่อนเป็นแน่?