รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เปิดเผยว่า สถาบันฯและศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้ติดตามสถานการณ์การเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จากความไม่ปลอดภัยตั้งแต่ปี 2543-2561 พบเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุกว่า 2,500 รายต่อปี เฉลี่ย 200 รายต่อเดือน โดยช่วงปิดเทอมเดือน เม.ย. มีเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงสุดเฉลี่ย 350 รายต่อเดือน รองลงมาเป็นเดือน มี.ค. และ พ.ค. สาเหตุสำคัญร้อยละ 56 เสียชีวิตจากการจมน้ำ ร้อยละ 25 จากการจราจร ร้อยละ 8 ตกจากที่สูง ของแข็งชนกระแทก โดยการจมน้ำพบมากช่วงวันที่ 12-23 เม.ย. ซึ่งกลุ่มอายุ 1-4 ปีจะเสียชีวิตในบ้าน แหล่งน้ำในบ้าน เนื่องจากพ่อแม่มักปล่อยให้เด็กโตหรือผู้สูงอายุดูแล ขณะที่กลุ่มเสี่ยงคือช่วงอายุ 6-12 ปี เป็นกลุ่มที่พ่อแม่ปล่อยให้ออกไปเล่นนอกบ้านตามลำพัง จึงมักเสียชีวิตในแหล่งน้ำใกล้บ้าน แหล่งน้ำในชุมชน เนื่องจากเด็กยังขาดทักษะเรื่องความปลอดภัยทางน้ำ 5 ประการ ประกอบด้วย 1.รู้จักเลี่ยงเข้าใกล้จุดเสี่ยง 2.ฝึกลอยตัวในน้ำให้ได้อย่างน้อย 3 นาที 3.รู้จักการว่ายเข้าฝั่งให้ได้ อย่างน้อย 15 เมตร 4.รู้จักขอความช่วยเหลือ โดยการตะโกน โยน ยื่นสิ่งของช่วยเหลือผู้อื่น และ 5.ใส่เครื่องช่วยชีวิต เช่น ชูชีพ ในการเดินทางทางน้ำหรือทำกิจกรรมใกล้แหล่งน้ำเสี่ยง

รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าวด้วยว่า เด็กควรได้รับการฝึกว่ายน้ำเพื่อการออกกำลังกายตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป และช่วง 6-9 ปีจะต้องเรียนรู้ทักษะชีวิตเพื่อความปลอดภัยทางน้ำ 5 ประการดังกล่าว ที่ผ่านมาโรงเรียนมักจะเริ่มฝึกสอนตอนอายุ 10 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม สถาบันฯได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ฝึกอบรมครูและนักเรียนให้รู้จักป้องกันตนเองจากการจมน้ำ และทำให้ชุมชนในพื้นที่ปรับตัวสร้างสถานที่หรือแหล่งน้ำที่เหมาะสมกับเด็ก โดยให้เด็กต้องเรียนรู้สถานที่ของตนเอง ป้องกันตนเองถูกต้อง รู้จักจุดเสี่ยง เพื่อตั้งเป้าลดอัตราการจมน้ำเสียชีวิตในเด็กให้เหลือ 250 คนต่อปี จากปัจจุบัน 700 คนต่อปี.

...