จระเข้”...เมืองไทยมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน...

จระเข้บึงหรือจระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำเค็มหรือไอ้เคี่ยม และไอ้โขง...จระเข้ปากกระทุงเหว

แน่นอนว่าบ้านเรามีจระเข้อยู่มาก อาศัยอยู่ตามพื้นที่ป่าริมน้ำชุ่มน้ำ ตลอดจนห้วยหนองคลองบึง แต่โบราณนานมาจึงมีผู้แก่กล้าวิชาหาญกล้าจับจระเข้ ได้ชื่อว่าเป็น “หมอจระเข้” ฉมังวิชาคาถาอาคมและเวทมนตร์คงกระพันสะกดจับจระเข้ได้ โดยไม่สะทก สะท้านต่อฤทธิ์เดชเรี่ยวแรง และเขี้ยวที่แหลมคมบนขากรรไกร

จากคำร่ำลือถึงเหล่าหมอจระเข้ก็ทำให้เกิดนิทานพื้นบ้านแห่งเมืองพิจิตรเรื่องหนึ่ง คือ “ไกรทอง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่กล่าวถึงพญาชาละวัน จระเข้ทรงอิทธิฤทธิ์ทางวิชาอาคม อาศัยอยู่ใต้บาดาลและโผล่ขึ้นมาหาเหยื่อมนุษย์กิน

ปัจจุบันประชากรจระเข้ตามธรรมชาติลดจำนวนประชากรไปมากแล้ว แต่ก็มีคนลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงจระเข้ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ หนึ่งในนั้นก็คือ “ฟาร์มจระเข้สามพราน” อ.สามพราน จ.นครปฐม เพาะพันธุ์จระเข้ไว้เพื่อใช้เป็นสินค้าขายแลกเปลี่ยน ก่อนนำไปทำเป็นจระเข้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้กับกลุ่มเกษตรกรปศุสัตว์

...

นอกจากนี้ยังได้รับการส่งเสริม...พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวจนได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยอดเยี่ยมครั้งที่ 9 ประเภทนันทนาการ จาก ททท. แม้ว่าวันเวลาจะผ่านมาถึงยุคดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ทว่าวันนี้ยังมีการสืบสานตำนาน “หมอจระเข้” เอาไว้คอยดูแล ควบคุมพฤติกรรม อารมณ์จระเข้ไม่ให้ออกนอกแถว

O O O O

“เมื่อจระเข้มีสมองเท่าไข่ไก่ ซึ่งทำให้ยาก ต่อการจะสอนให้เชื่องและรับฟังคำสั่งจากใครได้ หมอจระเข้จึงมีแต่อุปกรณ์คือด้ามไม้เป็นสัญญาณจิ้มบังคับเท่านั้น”

สนอง วรรณเวท หมอจระเข้วัย 34 ปี จาก อ.ทุ่งศรีอุดม จ.อุบลราชธานี เล่าว่า ได้ฝึกวิชาหมอจับจระเข้มาจากครูชื่อหมอเพชร ศาลางาม ครูหมอจระเข้อาวุโสฟาร์มแห่งนี้...ใหม่ๆให้ฝึกสังเกตพฤติกรรมจระเข้แต่ละตัวจนสามารถเข้าใกล้มันได้ด้วยความเคยชินและเลิกกลัว จากนั้นก็เริ่มฝึกการจับมันด้วยเชือกทำเป็นบ่วงคล้องบริเวณปลายปากของมัน เพื่อย้ายบ่อเลี้ยงหรือนำมันไปลานแสดงโชว์

“เชือก...ที่จะนำมาใช้คล้องจับจระเข้ในบ่อเลี้ยง ไม่ใช่จะเอาเชือกจากที่ไหนก็ได้มาใช้งาน แต่ละเส้นไม่ต่างจากเชือกปะกำสำหรับใช้คล้องช้าง คือจะต้องผ่านการปลุกเสกซึ่งจะกระทำกันทุกปีในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยหมอผู้อาวุโสจะเป็นผู้นำการประกอบพิธี ท่ามกลางหมอลูกศิษย์พร้อมเครื่องเซ่นบูชา มีหัวหมู ไก่สด ผลไม้จำพวกกล้วย อ้อย มะพร้าว ธูป เทียน”...หลังประกอบพิธี “เชือก”...ทุกเส้นที่ถูกนำไปใช้งาน เมื่อเสร็จแล้วจะต้องนำไปเก็บรวมไว้บนโต๊ะเครื่องกราบไหว้ ด้วยหมอทุกคนเชื่อว่านี่คืออุปกรณ์เครื่องมือที่ได้ผ่านการลงคาถาอาคมไว้เป็นที่เรียบร้อย เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างแคล้วคลาดและปลอดภัยไร้อันตราย

ในการใช้ชีวิตประจำวันทำงานจับจระเข้ ครูหมอมักสอนไว้เสมอว่า...“ทุกเช้าก่อนลงบ่อจะต้องกราบไหว้พระพุทธบนหิ้งบูชา เพื่อขอพรและความเป็นสิริมงคลอย่าให้ขาด เพราะพุทธบารมีที่เกิดขึ้นในจิตใจมิได้มีพลังอำนาจสกัดความดุร้ายของสัตว์ชนิดนี้ได้ แต่จะเป็นพลังเสริมให้เราตั้งมั่นอยู่ในสมาธิ และนิ่งอยู่กับความไม่ประมาทตลอดเวลาที่ทำงาน”

O O O O

กฎ...กติกา...ข้อห้ามสำคัญที่ต้องจำให้ขึ้นใจ พลาดไม่ได้ เพราะถ้าพลาดก็มีโอกาสเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แต่ละวัน “สนอง” หมอจระเข้โชว์การจับจระเข้และปฏิสัมพันธ์กับจระเข้ในหลายรูปแบบต่อหน้าคนมาเที่ยวนับร้อยนับพัน เขาจะใช้ด้ามไม้เป็นอุปกรณ์คอยจิ้มโคนขาหลังเบาๆให้พอรู้สึกเป็นสัญญาณเตือนจระเข้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ต้องการ และต้องไม่ลืมว่า...ทุกครั้งหากจะจิ้มโคนขาขวาหลังตัวใด เราจะต้องยืนฝั่งตรงข้ามให้พ้นรัศมีที่มันจะแว้งกัดเอาได้ อีกอย่างอย่ายืนประจันหน้าบริเวณบ่อน้ำลึกเกินเข่าเด็ดขาด เพราะจระเข้จะมีพละกำลังมากเกินจะทานได้ แต่ให้ยืนบริเวณน้ำตื้นเท่านั้น มนุษย์ถึงจะต่อสู้กับมันได้

...

“เทคนิคที่ใช้กับการแสดงบทน่าตื่นเต้นสำหรับคนดู คือท่าหยอดหัวเอามือหรือศีรษะเข้าไปในปากจระเข้ให้ดูน่าหวาดเสียว วิธีการคือให้จระเข้กินอาหารจนอิ่มเสียก่อน อย่าปล่อยให้หิวเด็ดขาดเพราะอันตรายมาก...จระเข้เป็นสัตว์ไร้รูขุมขนบนผิวหนัง เพื่อช่วยระบายความร้อน

ในร่างกายจากการเผาผลาญอาหาร มันจึงชอบนอนอ้าปากกว้างไว้ตลอดโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้เกิดจากมนตร์สะกดจากวิชาอาคมใดๆทั้งสิ้น”

“จระเข้” จะมีสัญชาตญาณเกิดขึ้นทุกครั้ง เมื่อเกิดฝนตกฟ้าร้อง พวกมันจะร้องพร้อมกันเหมือนเสียงวัวควาย คล้ายจะบอกเหตุภัยธรรมชาติที่กำลังจะเกิดขึ้น สิ่งที่หมอจระเข้ทุกคนถูกสอนเป็นข้อปฏิบัติสืบทอดกันมาคือ...ต้องตั้งมั่นในสมาธิและนิ่งกับความไม่ประมาท ไม่ดื่มของมึนเมาทุกชนิดหากคิดจะเป็นหมอจระเข้

“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์”...สิ่งที่ไม่เห็น ไม่ได้แปลว่าไม่มี.

รัก-ยม