ปฏิทินปลูกข้าว ชาวนาไทยไม่รู้จัก...แต่ญี่ปุ่นใช้ปฏิทินปลูกข้าวมานานแล้ว เพื่อใช้เป็นเครื่องมือวางแผนในการผลิตข้าวให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้เกิดการแปรปรวน และให้ชาวนารู้ว่าช่วงไหนปลูกข้าวแล้วมีความเสี่ยงโรคแมลง
นี่คงเป็นอีกเหตุผล ทำไมชาวนาญี่ปุ่นถึงมีรายได้สูง ได้ผลผลิตคุ้มค่า ไม่เสี่ยงขาดทุน
เพื่อให้ชาวนาไทยผลิตข้าวได้เหมือนญี่ปุ่น บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับ อ.ซิโทมุ มิยาโกชิ ที่ปรึกษาเชี่ยวชาญพิเศษ ด้านเทคนิคปลูกข้าว ประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกันศึกษาสายพันธุ์ข้าวแต่ละชนิดของไทยมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำปฏิทินการปลูกข้าวทั้งในพื้นที่นาชลประทาน และนาน้ำฝน
เบื้องต้นได้ข้อสรุปปฏิทินปลูกข้าว 3 สายพันธุ์หลัก...ข้าวหอมมะลิ 105, ข้าวหอมปทุมธานี และข้าวขาวพิษณุโลก
การปลูกข้าวในพื้นที่นาชลประทาน ปฏิทินปลูกข้าวตามแบบฉบับของสยามคูโบต้า แนะให้เริ่มเตรียมเมล็ดพันธุ์ เพาะกล้า และอนุบาลกล้า ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน กระทั่งปลายเดือนมิถุนายน ให้ตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของกล้า พร้อมเตรียมดิน
ต้นเดือนกรกฎาคมย้ายต้นกล้าลงปักดำ เมื่อต้นกล้าสูงประมาณ 50 ซม. หลังกำจัดวัชพืชให้ใส่ปุ๋ยครั้งแรก เพื่อให้ต้นกล้าข้าวแตกกอดี ช่วงนี้การปล่อยน้ำยังอยู่ในระดับปกติ...กลางเดือนสิงหาคมให้เริ่มระบายน้ำออกทีละน้อยจนแห้ง แบบทำนาเปียกสลับแห้ง 3 หน ไปจนถึงกลางเดือนกันยายน
ข้าวอายุได้ 90 วัน เป็นระยะตั้งท้องและออกรวง จะเริ่มเห็นต้นข้าวออกช่อดอก ช่วงนี้ให้เริ่มปล่อยน้ำเข้านาสูง 10 ซม. ไปตลอด แต่เมื่อถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ข้าวเริ่มจะมีกลิ่นหอมเสี่ยงต่อการเกิดการระบาดโรคแมลงเกษตรกรต้องเฝ้าระวังคอยตรวจสอบให้ระบายน้ำออกให้หมด
นอกจากช่วยป้องกันโรค ยังจะช่วยบังคับให้ข้าวมีกลิ่นหอมมากขึ้น และเมื่อข้าวอายุ 120 วัน น้ำแห้งเก็บเกี่ยวได้ง่าย
...
ส่วนการทำนาในพื้นที่อาศัยน้ำฝน ปฏิทินคูโบต้าจะเป็นอย่างไร... ติดตามพรุ่งนี้.
สะ–เล–เต