อิหร่านมีพรมแดนติดตุรกี อิรัก ปากีสถาน อัฟกานิสถาน อาเซอร์ไบจาน ฯลฯ อิสราเอลติดเลบานอน ซีเรีย จอร์แดน อียิปต์ และชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อิหร่านและอิสราเอลห่างกัน 1,500 กิโลเมตร โดยมีอิรัก และซีเรียกั้น

อิหร่านเรียกอิสราเอลว่ารัฐซาตาน ต่อต้านอิสราเอลทั้งศาสนาและการเมือง อิสราเอลเป็นรัฐยิวขัดแย้งกับโลกอาหรับและอิสลาม ส่วนใหญ่เป็นนิกายซุนหนี่ แต่กับอิหร่านซึ่งเป็นชีอะห์ก็มีความขัดแย้งรุนแรงซับซ้อน อิหร่านสนับสนุนฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนและฮามาสในปาเลสไตน์ที่มีเป้าหมายสู้กับอิสราเอล อิสราเอลมองว่าการที่อิหร่านหนุนกลุ่มติดอาวุธเป็นภัยคุกคามของตน

อิหร่านมีโครงการพัฒนานิวเคลียร์ที่ประกาศว่าใช้ในทางสันติ เช่น ผลิตพลังงานไฟฟ้า อิสราเอลเชื่อว่าอิหร่านมีเป้าหมายพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ อิสราเอลจึงต้องป้องกันการมีอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู มีปฏิบัติการลับขัดขวางโครงการและฆ่านักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่านหลายคน

สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกๆ ที่รับรองอิสราเอลอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ.1948 ทันทีที่ประกาศเอกราช ไม่ว่าจะรัฐบาลเด็มโมแครตหรือรีพับลิกันของสหรัฐฯ ต่างสนับสนุนอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่จะมีการออกมติประณามอิสราเอลจากการปฏิบัติการทางทหาร หรือการตั้งถิ่นฐานในเขตยึดครองปาเลสไตน์ สหรัฐฯจะใช้สิทธิยับยั้งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแทบทุกครั้ง

สหรัฐฯสนับสนุนโครงการ Iron Dome หรือระบบป้องกันขีปนาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงของอิสราเอล รวมถึงโครงการ David’s Sling และ Arrow สำหรับป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกล สหรัฐฯและอิสราเอลแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองในประเด็นอิหร่าน มีปฏิบัติการ Stuxnet ที่เป็นความร่วมมือระหว่างซีไอเอของสหรัฐฯและมอสสาดของอิสราเอลเพื่อโจมตีไซเบอร์ที่โรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน

มีกลุ่มล็อบบี้ยิสต์อเมริกันที่มีอิทธิพลสูงในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความช่วยเหลือแก่อิสราเอลที่เรียกว่า AIPAC ทรัมป์เอาใจล็อบบี้ยิสต์กลุ่มนี้ด้วยการประกาศรับรองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงอิสราเอลอย่างเป็นทางการ เมื่อ 6 ธันวาคม 2017 และย้ายสถานทูตสหรัฐฯจากเทลอาวีฟไปยังเยรูซาเล็มเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติสถานทูตกรุงเยรูซาเล็มที่ผ่านสภาคองเกรสเมื่อ ค.ศ.1995 แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯก่อนหน้าทรัมป์เลื่อนการบังคับใช้มาโดยตลอด

การย้ายสถานทูตทำเมื่อ 14 พฤษภาคม 2018 ตรงกับวันครบรอบ 70 ปีของรัฐอิสราเอล ทำให้มีการประท้วงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติผ่านมติไม่รับรองการเปลี่ยนแปลงสถานะของเยรูซาเล็มด้วยคะแนนเสียง 128 ต่อ 9 และประเทศสมาชิก 35 แห่งงดออกเสียง

...

14 กรกฎาคม 2015 มีการลงนามใน Joint Comprehensive Plan of Action หรือข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน โดยอิหร่านและกลุ่ม P5+1 (สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน+เยอรมนี รวมทั้งสหภาพยุโรป) เพื่อจำกัดความสามารถในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านแลกกับการยกเลิกการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ

8 พฤษภาคม 2018 ทรัมป์ถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และกลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตรเต็มรูปแบบกับอิหร่าน รวมทั้งไปกดดันประเทศอื่นให้ยุติการค้ากับอิหร่านด้วย ยุคของไบเดนมีความพยายามเจรจาเพื่อฟื้นฟูข้อตกลงฯ ทว่ายังไม่สำเร็จ

สหรัฐฯกดดันเพื่อ 1.ลดอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง และ 2. จำกัดพิสัยการยิงขีปนาวุธของอิหร่าน (เพราะกลัวว่าอิหร่านจะโจมตีอิสราเอล)

7 มีนาคม 2025 ทรัมป์บอกว่าตัวเองส่งจดหมายถึงอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เรียกร้องให้มีการเจรจาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านกันใหม่ โดยทรัมป์หวังว่าอิหร่านจะยอมมาร่วมเจรจากับสหรัฐฯ ทรัมป์เตือนอิหร่านว่า หากไม่เจรจา สหรัฐฯจะต้องดำเนินการบางอย่าง (ปฏิบัติการทางทหาร) เนื่องจากสหรัฐฯจะไม่ยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์อย่างเด็ดขาด

คาเมเนอีตอบการเรียกร้องแกมขู่ของทรัมป์ว่า ข้อตกลงนิวเคลียร์ ค.ศ.2015 ยังมีผลบังคับใช้ สหรัฐฯควรปฏิบัติตามข้อตกลงเดิม แทนที่จะเรียกร้องให้มีการเจรจากันใหม่

อิหร่านเรียกร้องให้สหรัฐฯเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนอิหร่าน ก่อนที่จะมีการเจรจาใดๆ พร้อมทั้งยืนยันว่า อิหร่านมีสิทธิในการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติ และจะไม่รับข้อจำกัดใหม่ที่เกินกว่าข้อตกลงเดิม

ผมกระหายใคร่รู้ ว่าเจอคำตอบของผู้นำสูงสุดของอิหร่านทรัมป์จะทำยังไงต่อ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com 

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม