ปัจจุบัน ในแต่ละปีมีดาวฤกษ์ไม่กี่ดวงที่ก่อตัวในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา นับเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างออกไปจากอดีต ซึ่งประเมินว่ามีการก่อตัวดาวฤกษ์หลายสิบดวงหรือหลายร้อยต่อปีเมื่อประมาณ 10,000 ล้านปีก่อนในทางช้างเผือก ทว่าค่อยๆลดลงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นักดาราศาสตร์คิดว่าการก่อตัวดาวฤกษ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกระจุกดาวขนาดเกินปกติ หรือซุปเปอร์กระจุกดาว เมื่อเร็วๆนี้ นักดาราศาสตร์จากสถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่งอิตาลี เผยข้อมูลการสังเกตการณ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา ร่วมกับกล้องโทรทรรศน์ตัวอื่นๆขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา ทำให้เจาะลึกลงไปในเวสเตอร์ลันด์ 1 (Westerlund 1) เป็นซุปเปอร์กระจุกดาวที่ใหญ่ที่สุดและอยู่ใกล้โลกที่สุด ห่างไป 13,000 ปีแสง โดยเวสเตอร์ลันด์ 1 มีอายุน้อยราว 3 ล้านถึง 5 ล้านปี แต่มวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 10,000 เท่า เปรียบเหมือนโรงงานผลิตดาวฤกษ์ที่ทำงานสุดแข็งขัน ซึ่งภาพใหม่ได้แสดงดาวฤกษ์อายุน้อยที่ส่วนใหญ่เป็นสีขาวและสีชมพู รวมทั้งก๊าซร้อนกระจายไปทั่วกระจุกดาวที่มองเห็นเป็นสีชมพู เขียว และน้ำเงิน ตามลำดับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของก๊าซ

นักดาราศาสตร์เผยว่า มีซุปเปอร์กระจุกดาวเพียงไม่กี่แห่งในกาแล็กซีทางช้างเผือก กระจุกดาวเหล่านี้ให้เบาะแสที่สำคัญเกี่ยวกับยุคก่อนหน้าที่ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ในทางช้างเผือกจะก่อตัวขึ้น และเวสเตอร์ลันด์ 1 จึงเป็นเป้าหมายที่ดีเยี่ยมในการศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมในซุปเปอร์กระจุกดาว ที่มีต่อกระบวนการกำเนิดดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ ตลอดจนวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ในมวลอันกว้างใหญ่.

Credit : Chandra X-ray Center

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่