นักวิทยาศาสตร์คิดว่าดาวเคราะห์ต่างๆ ก่อตัวขึ้นจากวัตถุจำนวนนับล้านที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ดาวเคราะห์ เช่น โลก จำเป็นต้องเข้าใจว่าวัตถุต่างๆมีพฤติกรรมอย่างไร โดยเฉพาะการพุ่งชนกันของดาวเคราะห์น้อย เพราะเชื่อกันว่าดาวเคราะห์น้อยเป็นเศษซากดึกดำบรรพ์จากช่วงเริ่มแรกของระบบสุริยะ วัตถุจำพวกนี้จะให้เบาะแสว่าโลกและดาวเคราะห์ ดวงอื่นๆ ก่อตัวเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อนได้อย่างไร

หนึ่งในวัตถุที่อยู่ในความสนใจก็คือ ดาวเคราะห์น้อยดินคิเนช (Dinkinesh) ซึ่งเมื่อเดือน พ.ย.2566 ยานอวกาศลูซี ขององค์การนาซา สหรัฐฯ เผยให้เห็นว่าดินคิเนช ไม่ได้อยู่เดียวดาย แต่ยังมีบริวารดวงหนึ่งชื่อ เซลาม (Selam) ติดสอยห้อยตามแบบยึดติดกัน ดูคล้ายกับว่า 2 วัตถุค่อยๆหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยดินคิเนชและเซลาม ถือเป็นดาวเคราะห์น้อยที่เล็กที่สุดจากแถบดาวเคราะห์น้อยหลักของระบบสุริยะของเรา ตั้งอยู่ระหว่างดาวเคราะห์ ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ทั้งนี้ ดินคิเนชมีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 720 เมตร ส่วนเซลามประกอบด้วยลอนที่มีขนาดใกล้เคียงกัน 2 ลอน โดยลอนหนึ่งกว้างราว 230 เมตร อีกลอนกว้างราว 210 เมตร เซลามโคจรรอบดินคิเนชทุกๆ 53 ชั่วโมงในระยะทางประมาณ 3.1 กิโลเมตร

จากการวิเคราะห์ภาพที่ถ่ายโดยยานลูซีอย่างละเอียด นักวิทยาศาสตร์พบแอ่งและสันขนาดใหญ่บนพื้นผิวของดินคิเนช จนสรุปได้ในบางจุดว่าดินคิเนชสูญเสียมวลสารไปมากถึง 1 ใน 4 ซึ่งต่อมามวลสารส่วนหนึ่งก็ตกลงบนพื้นผิวดินคิเนชและก่อตัวเป็นสัน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังลอยอยู่ในวงโคจร และก่อตัวเป็นดวงจันทร์บริวาร 2 ดวง จากนั้นก็ชนกันจนนำไปสู่การกำเนิดของดาวเคราะห์น้อยเซลามนั่นเอง.

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่