คนที่ชอบเรื่องดาราศาสตร์และสนใจปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. มีข่าวสารจาก “สตาร์ วอล์ก แอสโตรโนมิคัล นิวส์” (Star Walk Astronomical News) แอปพลิเคชันท้องฟ้าจำลองระบุว่าในวันที่ 3 มิ.ย. บนฟากฟ้าจะมี “ขบวนพาเหรดดาวเคราะห์” ที่ดาวพุธ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน มาเรียงตัวในแนวเดียวกัน มองเห็นได้ทั่วท้องฟ้า แต่ก็อย่าคาดหวังว่าจะมองเห็นได้ทั้งหมด เนื่องจากชุดวิดีโอสกายวอทชิง ทิปส์ (Skywatching Tips) ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา อธิบายว่าจะมีดาวเคราะห์เพียง 2 ดวงเท่านั้นที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในวันที่ 3 มิถุนายน (ในกรณีถ้ามองเห็น)

ซึ่งข้อมูลดังกล่าวตรงกันข้ามกับรายงานของนักดูดาวและการโพสต์บนโซเชียลมีเดียมากมาย ที่ระบุว่าจะไม่มีดาวเคราะห์จำนวนหนึ่งปรากฏให้เห็นด้วยตาเปล่าในวันที่ 3 มิ.ย.เพราะดาวพุธและดาวพฤหัสจะอยู่ต่ำเกินไปบนท้องฟ้าตอนพระอาทิตย์ขึ้น แม้จะอยู่ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมที่ท้องฟ้ามืด ปราศจากมลภาวะทางแสงก็ตาม ส่วนดาวยูเรนัสก็มืดมากและมองเห็นได้ยาก ดังนั้น ท้องฟ้าเรืองแสงใกล้รุ่งสางก็ยิ่งทำให้ไม่อาจมองเห็นได้ ขณะที่ดาวเนปจูนซึ่งหรี่แสงกว่าดาวยูเรนัสถึง 6 เท่า ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ถึงจะมองเห็น

นักฟิสิกส์และดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ ในสหรัฐฯ เผยว่า ขบวนพาเหรดดาวเคราะห์จะเกิดขึ้นอีกในวันที่ 29 มิ.ย. มีดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดวงจันทร์ โดย 3 ใน 4 ดวงนี้จะปรากฏให้เห็นความมืดของช่วงเช้าทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยน่าจะเกิดขึ้นราว 05.00 น. หรือ 06.00 น. อย่างไรก็ตาม ขบวนพาเหรดดาวเคราะห์ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของปรากฏการณ์ท้องฟ้าในปีนี้ เพราะคาดการณ์ว่ามีการระเบิดของนวดาราในช่วงก่อนเดือน ก.ย. ในกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ (Corona Borealis) ซึ่งจะสว่างพอๆกับดาวเหนือเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนที่จะจางหายไป.

...

Credit : NASA/JPL

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่