เพื่อนไลน์ไอดี @ntp59 ท่านหนึ่งส่งลิงก์แฟนเพจที่มีการพูดถึงการสิ้นสุดของสถาบันพระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศส ในเพจนั้นเล่าว่า เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดนลงโทษประหารชีวิตด้วยการตัดพระเศียรด้วยกิโยตินแล้ว ฝรั่งเศสก็ไม่มีกษัตริย์อีกเลย อาจารย์ผู้บรรยายเรียกยอดไลก์ยอดวิวด้วยการเล่าประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่โยงมาการเมืองการปกครองของไทยอย่างเมามัน การเล่าของท่านเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริงเรื่องประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสและยุโรปเป็นอย่างมาก

ขอเรียนข้อเท็จจริงอย่างนี้ครับ เดิมฝรั่งเศสมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตามมาด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ระหว่างที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นกษัตริย์มีการพบตู้เหล็กที่มีการบรรจุเอกสารลับที่บ่งชี้ว่ากษัตริย์หลุยส์ที่ 16 พยายามจะให้กองกำลังต่างชาติเข้ามาฟื้นฟูพระราชอำนาจ (เพื่อให้กลับไปเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) หลักฐานเอกสารในตู้เหล็กทำให้มีการตัดสินลงโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ด้วยการใช้กิโยตินตัดพระเศียร

ความนิยมในระบอบกษัตริย์ตกต่ำลงมากจนถึง 21 กันยายน 1792 มีการประชุมสภา Convention ครั้งแรก มีมติให้ยกเลิกระบอบ กษัตริย์ เท่ากับว่าฝรั่งเศสปิดฉากทั้งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น ฝรั่งเศสก็สถาปนาระบอบสาธารณรัฐที่เรียกว่าสาธารณรัฐที่ 1 ซึ่งมีอายุเพียง 7 ปี ค.ศ.1792-1799 ยุคนี้ฝรั่งเศสมีทั้งสภาอาวุโส 250 คน และสภา 500 ที่เลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง 500 คน

แต่คนฝรั่งเศสในสมัยนั้นก็แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายนิยมเจ้าและฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ เมื่อยุคที่ 1 สิ้นสุดลงก็ถึงยุคสาธารณรัฐที่ 2 ที่เกิดจากการรัฐประหารของนโปเลียน โบนาปาร์ต นโปเลียนปกครองด้วยคณะกงสุลที่ประกอบด้วยคณะกงสุล 3 คน ที่ทำหน้าที่บริหารประเทศ โดยนโปเลียนเป็นกงสุลคนที่ 1 คนฝรั่งเศสในสมัยนั้นชอบนโปเลียนมาก นโปเลียนจึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบจักรวรรดิฝรั่งเศส

...

ค.ศ.1815 นโปเลียนแพ้สงครามวอเตอร์ลูจึงถูกเนรเทศไปอยู่ที่เกาะเซนต์เฮเลนาและเสด็จสวรรคตที่เกาะนี้ใน ค.ศ.1821 ด้วยวัย 51 ปี พอหมดนโปเลียน คนฝรั่งเศสก็หันมาทะเลาะกันใหม่ พวกนิยมกษัตริย์ชนะและฟื้นฟูการปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นอีกครั้ง ช่วงนี้ฝรั่งเศสอยู่ในการปกครองของกษัตริย์หลุยส์ที่ 18 หลังจากที่พระองค์สวรรคตแล้ว กษัตริย์ชาร์ลที่ 10 ก็ขึ้นครองราชย์และต้องการให้ฝรั่งเศสกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พอโดนผู้คนประท้วง กษัตริย์ชาร์ลที่ 10 สละราชสมบัติและหนีไปต่างประเทศ

หลังจากนั้น หลุยส์-ฟิลิปขึ้นเป็นกษัตริย์ ตอนขึ้นครองราชย์สมัยแรกๆ ประชาชนก็ไชโยโห่ร้องต้อนรับ แต่พักหนึ่งประชาชนก็ไม่เอา ถึงขนาดจนต้องสละราชสมบัติเมื่อ ค.ศ.1848 และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้โครงสร้างทางการเมืองของฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงไป มีประธานาธิบดีที่เลือกตั้งจากประชาชน อยู่ได้ 1 วาระ 4 ปี

การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 20 ธันวาคม 1848 เจ้าชายหลุยส์ นโปเลียนชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนร้อยละ 74.44 เจ้าชายหลุยส์ นโปเลียนเป็นประธานาธิบดี นายอัลฟงส์ อองรี เป็นนายกรัฐมนตรี และพอถึงวันที่ 14 มกราคม 1852 พระเจ้าหลุยส์ นโปเลียนก็ให้ประชาชนลงประชามติว่าจะเปลี่ยนฝรั่งเศสจากระบอบสาธารณรัฐมาเป็นระบอบจักรวรรดิ และผลการลงมติ ประชาชนเห็นชอบให้กลับสู่ระบอบจักรวรรดิ เป็นการปิดฉากสาธารณรัฐที่ 2

เจ้าชายหลุยส์ นโปเลียน สถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ระหว่าง 1852-1875 ช่วงนี้พระองค์ปรับปรุงกองทัพจนเข้มแข็ง เพราะต้องการขยายความยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส กองทัพก็ต้องเดินด้วยท้อง สตางค์ไม่พอก็ต้องไปรีดภาษี เรื่องรีดภาษีนี่ล่ะทำให้คนเริ่มไม่ชอบกษัตริย์ (อีกแล้ว) พอกองทัพใหญ่โตแล้ว ฝรั่งเศสก็ไปรบกับปรัสเซีย แล้วก็แพ้ ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม 5 ล้านฟรังก์ และแลกกับการปล่อยตัวจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ที่ถูกจับเป็นเชลยอยู่ในขณะนั้น

พรุ่งนี้ขออนุญาตกลับมารับใช้ต่อครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ "เปิดฟ้าส่องโลก" เพิ่มเติม