พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกปกคลุมด้วยมหาสมุทร แต่ขณะนี้ถูกมลพิษคุกคาม มากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในกลยุทธ์ที่ถูกใช้ต่อสู้กับกองขยะที่พบในระบบนิเวศที่อ่อนไหวมากๆเหล่านี้ โดยเฉพาะบริเวณแนวปะการัง ก็คือการใช้หุ่นยนต์ ทำความสะอาด ทว่า หุ่นยนต์ใต้น้ำที่มีอยู่ส่วนใหญ่จะเทอะทะและมีลำตัวแข็ง จึงไม่อาจสำรวจและเก็บตัวอย่างในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน แถมยังมี เสียงดังจากมอเตอร์ไฟฟ้าหรือหัวขับไฮดรอลิก
มีความพยายามออกแบบเครื่องมือให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันมักซ์พลังค์ด้านระบบอัจฉริยะ (MPI-IS) ในเยอรมนี เผยว่า ได้มองหาแรงบันดาลใจจากธรรมชาติเพื่อสร้างหุ่นยนต์ซึ่งก็คือแมงกะพรุน เรียกว่า “เจลลี่ฟิช-บอท” (Jellyfish-Bot) หุ่นยนต์มีขนาดเท่าฝ่ามือ มีความสามารถรอบด้าน ประหยัดพลังงาน และแทบไม่มี เสียงรบกวนใดๆ เชื่อว่าจะขับเคลื่อนและจัดการในเวลาที่อยู่ใต้น้ำได้มีประสิทธิภาพ
ทีมอธิบายว่า ใช้หัวขับไฮดรอลิกควบคุมด้วยไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ตัวปั๊มทำหน้าที่เป็นกล้ามเนื้อเทียมที่ให้พลังงานแก่หุ่นยนต์ กล้ามเนื้อเหล่านี้ล้อมรอบด้วยเบาะลม ส่วนประกอบที่อ่อนนุ่มและแข็งจะทำให้หุ่นยนต์มีเสถียรภาพและทำให้กันน้ำได้ ด้วยวิธีนี้ไฟฟ้าแรงสูงที่ไหลผ่านหัวขับจะไม่สัมผัสกับน้ำโดยรอบได้ เมื่อแหล่งจ่ายไฟจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านสายไฟเป็นระยะๆ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อหดตัวและขยายตัว สิ่งนี้ทำให้หุ่นยนต์ว่ายน้ำได้อย่างเหมาะสมและสร้างการหมุนวนใต้ลำตัวของหุ่นยนต์ มีประโยชน์ต่อการเก็บรวบรวมวัตถุ เช่น เศษขยะ ทั้งยังขนส่งขยะขึ้นสู่พื้นผิวนำไปรีไซเคิลได้ในภายหลัง.
Credit: Max Planck Institute for Intelligent Systems