การค้นพบทางโบราณคดีแต่ละครั้งคือการไขความกระจ่างประวัติศาสตร์ของอารยธรรมโบราณ ให้ข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าเกี่ยวกับวัฒนธรรม ความเชื่อ และการปฏิบัติของผู้คนในอดีต สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ชนรุ่นหลังเข้าใจว่าอารยธรรมที่แตกต่างกันมีปฏิสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อการพัฒนากันและกันอย่างไร
เมื่อเร็วๆนี้ อียิปต์ประกาศการค้นพบรูปปั้นพระพุทธรูปจากยุคโรมันที่วิหารในเมืองโบราณเบอร์นิคี บนชายฝั่งทะเลแดงของอียิปต์ นอกจากจะสำคัญต่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม แต่ยังส่งเสริมความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม เพราะการพบพระพุทธรูปในวิหารเก่าแก่ของอียิปต์บ่งบอกถึงอิทธิพลของอินเดียที่มีต่อวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ ทีมนักโบราณคดีของโปแลนด์และสหรัฐอเมริกาที่ทำงานสำรวจในพื้นที่เมืองเบอร์นิคีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 เผยว่า พระพุทธรูปดังกล่าวทำด้วยหิน สูง 71 เซนติเมตร เป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนถือฉลองพระองค์ส่วนหนึ่งไว้ในพระหัตถ์ซ้าย มีรัศมีรอบพระเศียรและมีดอกบัวอยู่ข้างๆ อีกทั้งยังพบคำจารึกในภาษาสันสกฤตที่ย้อนกลับไปถึงยุคของจักรพรรดิฟิลิปชาวอาหรับ (Philip the Arab) ตรงกับ ค.ศ.244-249 และเหรียญ 2 เหรียญในศตวรรษที่ 2 จากอาณาจักรของราชวงศ์สาตวาหนะ (Satavahana) ของอินเดียตอนกลาง
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่ารูปปั้นพระพุทธรูปนี้อาจถูกแกะสลักในท้องถิ่นเมืองเบอร์นิคี และอุทิศให้กับวิหารโดยพ่อค้าผู้มั่งคั่งหนึ่งคนหรือมากกว่าจากอินเดีย ซึ่งการค้นพบนี้มีข้อบ่งชี้สำคัญหลายประการของการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างอียิปต์และอินเดียในยุคโรมัน.