เมื่อดาวฤกษ์กำลังก่อตัว จานฝุ่นก๊าซที่อยู่รอบๆ กระบวนการก่อตัวนี้ จะทำหน้าที่ป้อนสสารเข้าไปที่ใจกลางของจานฝุ่น แต่หากดาวที่กำลังก่อเกิดเป็นดาวฤกษ์มวลสูง ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 8 เท่า แถมยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นักดาราศาสตร์เชื่อว่าแทนที่ก้อนสสารจากจานฝุ่นจะไหลไปอย่างต่อเนื่อง มันต้องมีบ้างที่ก้อนมวลสารจะกระเด็นไปตกลงบนดาวฤกษ์ทารกเป็นครั้งคราว ทำให้เกิดการระเบิดเป็นช่วงสั้นๆ
เมื่อเร็วๆนี้ทีมวิจัยนานาชาตินำโดยรอสส์ เอ.เบิร์นส์ จากหอดูดาวแห่งชาติญี่ปุ่น (NAOJ) ได้ใช้เทคนิค VLBI ที่รวมตัวแปรที่เก็บข้อมูลมาเป็นชุดข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุทั่วโลกเพื่อทำแผนที่การปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในจานฝุ่นก๊าซรอบดาวฤกษ์ทารกมวลสูงที่ชื่อ G358-MM1 ซึ่งในภาพคือเครื่องหมายบวก (+) สีขาวตรงกลาง เส้นสีเทาที่วางซ้อนกันหมายถึงแขนกังหัน สีแสดงถึงความเร็ว การเคลื่อนไหวออกห่างจะแสดงเป็นสีแดง/ส้ม ส่วนการเคลื่อนไหวเข้าหาจะแสดงเป็นสีน้ำเงิน/เขียว บ่งชี้ว่าจานฝุ่นกำลังหมุน ซึ่งผลการสังเกตพบว่ามีการหมุนของจานฝุ่นก๊าซอย่างชัดเจนรอบดาวฤกษ์ G358-MM1 ทว่า 4 แขนกังหันในจานฝุ่นมีสัญญาณของความไม่เสถียร อันเป็นลักษณะตรงกับทฤษฎีที่มีมาช้านานว่า นี่คือพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อตัวดาวฤกษ์มวลสูง เพียงแต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์จากการสังเกตพบ
การพบสิ่งที่เกิดขึ้นกับ G358-MM1 จึงไม่เพียงเผยว่าจานฝุ่นก๊าซเพิ่มมวลที่ขับเคลื่อนด้วยเกลียวกังหันในดาวฤกษ์ก่อนเกิดที่มีมวลสูงเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงความไม่เสถียรของแขนกังหันกับการระเบิด รวมถึงการเติบโตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งความไม่เสถียรของแรงโน้มถ่วงในจานฝุ่นมีนัยสำคัญต่อการก่อตัวดาวฤกษ์มวลสูง.
Credit : Ross A.Burns