ทั่วโลกต้องสะเทือนเมื่อ “รัสเซีย เปิดฉากทางทหารโจมตียูเครน” ด้วยปฏิบัติการปิดล้อมระดมยิงปืนใหญ่ และจรวดขีปนาวุธปูพรมทำลายฐานทัพ สนามบิน คลังแสง แล้วเคลื่อนพล ยานเกราะบีบทุกทิศทางตั้งแต่เหนือ ใต้ ตะวันออก กลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบปะทะกันอย่างดุเดือดหลายวันมานี้

ทำให้สถานการณ์เลวร้ายอย่างรวดเร็ว “ประชาชนหนีตายจ้าละหวั่นโกลาหลกันทั่วประเทศ” นับแต่ “วลาดิเมียร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย ลงนามรับรองสถานะความเป็นรัฐอิสระในพื้นที่โดเนตสก์-ลูฮันสก์ในภูมิภาคดอนบัสของยูเครนได้แยกตัวออกมาจากการควบคุมของรัฐบาลยูเครนมาตั้งแต่เมื่อปี 2557

ทันทีที่ลงนามรับรองก็ส่งกำลังทหารประจำการรักษาสันติภาพ ก่อนสั่งเปิดฉากโจมตียูเครนทุกทิศทาง “ประชาชนลี้ภัยสงคราม” ออกจากยูเครนไปยังประเทศเพื่อนบ้านในยุโรปตะวันออกที่มีชายแดนติดยูเครน

กระทั่ง “สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพยุโรป และแคนาดา” ประกาศคว่ำบาตรรายบุคคลต่อวลาดิเมียร์ ปูติน และเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รมต.ต่างประเทศรัสเซีย ในมาตรการคว่ำบาตรมีผลให้ทรัพย์สินถูกอายัด เพื่อตอบโต้การทำสงครามในยูเครนครั้งนี้ ดร.อดุลย์ กำไลทอง นักวิชาการอิสระในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซีย บอกว่า

...

การเดินเกมรุก “รัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารโจมตียูเครน” เกิดเป็นสงครามเต็มรูปแบบเกินความคาดหมาย หักปากกาบรรดานักวิชาการ และนักวิเคราะห์หลายสำนักโดยสิ้นเชิง

ถ้าเจาะดูเนื้อหาอย่างละเอียดแล้ว “รัสเซียโยนหินถามทางมาสักพักใหญ่” เริ่มจากเคลื่อนกำลังทหารประชิดชายแดน ฝึกซ้อมรบ “หยั่งเชิงยูเครน และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต” เมื่อไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ใดๆก็ลงนามรับรองเอกราชโดเนตสก์และลูฮันสก์ อันเป็นเสมือนลูบคมนาโตกลับไม่ทำอะไรอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ “รัสเซีย” ก็เปิดยุทธวิธีคืบคลานเดินเกมอย่างช้าๆค่อยเป็นค่อยไปแล้วคอยสังเกต “อาวุธลับหมัดเด็ดคู่ต่อสู้ไปเรื่อยๆ” กระทั่งมั่นใจไม่มีฤทธิ์พิษสงตอบโต้ทางทหารมากนักก็ประเมินเหตุการณ์ “ตัดสินใจทำสงครามกับยูเครนเต็มรูปแบบ” เร่งปิดเกมเผด็จศึกในทันที

แน่นอนว่า “ปฏิบัติการนี้เน้นเป้าหมายยูเครนตะวันออกและยูเครนใต้” แต่จะไม่ทำสงครามยึดครองทั้งประเทศ เพราะมีตัวแปรสำคัญหลายประการเป็นอุปสรรคโดยเฉพาะ “ความเห็นจากประชาชนกลุ่มนิยมชาติตะวันตก” ที่จะไม่เห็นด้วยกับรัสเซีย อันนำมาซึ่งเหตุประท้วงต่อต้านรายวันจนไม่อาจปกครองประเทศได้ในที่สุด

ทั้งยังไม่เป็นผลดีต่อรัสเซียในสายตานานาชาติ ฉะนั้นสังเกตได้ว่า “รัสเซีย” มักเข้าโจมตียึดครองเฉพาะพื้นที่สนับสนุนเป็นหลัก “อันเป็นการบีบยูเครนให้ปฏิบัติตาม” มิเช่นนั้นก็จะบุกโจมตีคืบคลานไปเรื่อยๆ จนสุดท้าย “ยูเครนอาจต้องยอมเฉือนเนื้อบางส่วนให้รัสเซีย” แลกกับการรักษาอำนาจอธิปไตยของตัวเองไว้คงเดิม

เรื่องนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญให้ “นาโต สหรัฐอเมริกา และชาติตะวันตก” ที่ก่อนหน้านี้ประเมินวิเคราะห์ศักยภาพของรัสเซียต่ำเกินไป ไม่คิดด้วยซ้ำว่า “กล้าบ้าบิ่นโจมตียูเครนหนักขนาดนี้” จนทำให้พูดไม่ออกแล้วไม่มีแผนสำรองต่อการรับมือตอบโต้จัดการได้ทันท่วงทีด้วยซ้ำ

หนำซ้ำกลายเป็นว่า “ชาติตะวันตก และยุโรป” ก็ไม่กล้าออกมาสนับสนุนทางการทหารต่อยูเครนเต็มที่ ทำได้แต่ออกมาตรการแซงก์ชันที่ไม่ได้ทำให้ “รัสเซียกลัวจนต้องชะลอหยุดปฏิบัติการทางทหาร” เพราะเขาเคยชินกับการถูกคว่ำบาตรมาตั้งแต่สมัยปี 2014 แล้วระยะเวลา 8-9 ปีมานี้ก็เรียนรู้พยายามพึ่งพาตัวเองมาตลอด

...

ย้ำว่า “รัสเซียไม่มีอะไรเสียไปกว่านี้” เพราะถ้ายังปล่อยให้ยูเครนเป็นสมาชิกนาโตแล้วล่ะก็ “ชาติตะวันตกจะเข้ามาประชิดรัสเซียส่งผลกระทบต่อความมั่นคงยิ่งขึ้น” ทำให้จำเป็นต้องเปิดฉากโจมตียูเครน มุ่งหมาย “ตัดไฟแต่ต้นลม” ไม่ให้ชาติตะวันตกภายใต้นาโตขยายเข้ามาใกล้มากไปกว่านี้ได้

ปัจจัยนี้เป็นเหตุผลให้ “รัสเซียยอมเจ็บตัว” แลกกับสิ่งที่จะได้ติดมือมาบ้าง โดยเฉพาะ “การดิสเครดิตนาโต และสหรัฐฯ” แล้วพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วย “การสร้างยุทธศาสตร์รัสเซียใหม่” ให้แผ่อิทธิพลทรงพลังขึ้นอีกครั้งนับแต่ “สหภาพโซเวียตล่มสลาย” ที่จะสามารถค้านอำนาจประเทศมหาอำนาจก็ได้

เรื่องนี้ “ยุโรป” ค่อนข้างเป็นกังวลไม่สบายใจต่อ “การกระทำของรัสเซียอันมีพฤติกรรมละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ” แต่ก็ไม่เข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งครั้งนี้ เพราะส่วนใหญ่พึ่งพาการนำเข้าก๊าซและน้ำมันจากรัสเซียมากกว่า 1 ใน 3 แล้วนักธุรกิจในยุโรปยังเข้ามาลงทุนธุรกิจหลายประเภทในรัสเซียอีกด้วย

จนเสมือนว่า “เศรษฐกิจยุโรปผูกมัดไว้กับรัสเซีย” อันมิอาจแยกออกจากกันได้ด้วยซ้ำ ดังนั้น “การที่ยุโรปจะตัดสินใจใดๆในการลงโทษต่อรัสเซีย” ก็เป็นการทำลายตัวเองทางอ้อมก็ได้

ถัดมา “ชนวนเหตุทำให้บานปลายเป็นสงครามขนาดใหญ่” ในเรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับท่าทีการตัดสินใจของ “นาโตจะรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่” ถ้ารับเข้าเป็นสมาชิกแล้วก็ฟันธงได้เลยว่า “เกิดสงครามขนาดใหญ่” อันเป็นรูปแบบสงครามวันออนวันระหว่างรัสเซียและนาโตขึ้นแน่นอน

...

แต่ก็เชื่อว่า “นาโตไม่ต้องการประสงค์ให้เกิดสงคราม” เพราะมีผลกระทบมวลมนุษยชาติยากต่อการประเมินได้ ฉะนั้นมองว่า“สงครามรัสเซีย และยูเครน” ไม่น่าขยายออกไปยังประเทศภูมิภาคประเทศอื่น อย่างไรก็ดีต้องติดตามท่าทียูเครนที่มีทางเลือกเดียวคือยอมทำตามรัสเซีย ไม่เข้าเป็นสมาชิกนาโตเท่านั้น

ประการต่อมา “นาโตขาดเอกภาพการตัดสินใจ” เพราะด้วยมติข้อเสนอมักต้องผ่านประชุมสมาชิก 26 ประเทศเสมอ ในจำนวนนี้ก็แตกออกเป็นหลายกลุ่ม มีทั้งประเทศไม่อยากให้นาโตเข้าแทรกแซงความขัดแย้งนี้อันจะนำไปสู่สงครามยืดเยื้อ แล้วบางกลุ่มประเทศก็เห็นด้วยในการจัดการกับรัสเซียให้เด็ดขาด

เช่นนี้ทำให้เห็นภาพว่า “นาโตตัดสินใจออกมาตรการใดต้องผ่านความเห็นชอบตรงกัน” ถ้าเมื่อใดที่ประชุมสมาชิกนาโตมีความขัดแย้งมักลงเอยด้วย “การเจรจาล่มวงแตก มติข้อเสนอถูกตีตก” แตกต่างจากรัสเซียอำนาจเด็ดขาดทั้งหมดขึ้นอยู่กับ “ปูติน” เป็นผู้ตัดสินใจเพียงคนเดียวสามารถทำอะไรได้ทันที

...

กลายเป็นว่า “ตอนนี้นาโตกำลังถูกลดความเชื่อมั่นศรัทธา” จากกรณีทอดทิ้งยูเครนให้ต้องเผชิญสงครามโดดเดี่ยวเพียงลำพัง โดยไม่เข้าช่วยเหลือปราบปรามจัดการรัสเซียเท่าที่ควรจะทำได้ ฉะนั้นในอนาคตคงต้องปรับบรรทัดฐานใหม่ เน้นพูดจริงทำจริง ไม่ใช่ข่มขู่ ไม่กล้าปฏิบัติการอะไรอย่างที่กำลังทำกับยูเครนอยู่นี้

ประเด็นน่าจับตาต่อไป “รัสเซียมีแผนปรับภาพลักษณ์ใหม่” เดินเกมสร้างภาพคู่ขนานให้เกิดการเปรียบเทียบไม่ทำให้เกิดซ้ำรอยเหตุการณ์ “สงครามสหรัฐฯโจมตีอิรัก” แต่จะปรับท่าทียอมรับเป็นผู้รุกรานแล้วเปิดโต๊ะเจรจาทำสัญญาลูกผู้ชายยินยอมคืนยูเครนส่วนที่ไม่ต้องการแทรกแซงให้กลับเป็นเอกราชดังเดิม

“สงครามครั้งนี้เป็นเพียงยุทธการถอนขนไก่ให้ลิงดู ตักเตือนยูเครนให้เจ็บแล้วสุดท้ายประธานาธิบดีปูตินจะเข้ามาปรับบทให้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งในหลักการล้างสมองด้วยเหตุผลในความจำเป็นต้องปฏิบัติการทางทหารเข้ายึดบางส่วนยูเครน แล้วทุ่มส่งเสริมพื้นที่ยึดครองให้มีคุณภาพที่ดี ส่วนอื่นก็คืนเอกราชดังเดิม” ดร.อดุลย์ว่า

แต่สิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้นคือ “การตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” ส่งสัญญาณถึงนาโตและชาติตะวันตกที่จะไม่กล้าเข้ามายุ่งวุ่นวายในยูเครนแล้วยังทำให้ “ยูเครนรู้สึกผิดหวังขาดความเชื่อมั่นนาโต” เสมือนถูกหลอกทิ้งไว้กลางทางถนนต้องยืนอยู่ลำพัง สุดท้ายก็จะไม่กล้าทะเลาะกับรัสเซียหันมาสร้างความสัมพันธ์ดีกว่าถูกรุกรานตามมา

สุดท้ายนี้ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” กระทบเศรษฐกิจไปทั่วโลกไม่มากก็น้อย ปรากฏชัดๆ “นํ้ามัน และก๊าซดีดตัวขึ้น” ถ้าสงครามยืดเยื้อยิ่งกระทบหนักต้องจับตาเปิดโต๊ะเจรจาหาทางออกกันต่อไป...