นับเป็นปรากฏการณ์ทางความมั่นคงที่น่าจับตาอีกครั้ง หลังช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพอากาศจีนออกปฏิบัติการขนานใหญ่ในทะเลจีนตะวันออก

พร้อมท้าทายเขตป้องกันทางอากาศ (ADIZ: Air Defense Identification Zone) ของ “ไต้หวัน” เป็นเวลา 4 วันติดต่อกัน ด้วยเครื่องบินรบหลายรุ่นเกือบ 150 ลำ ทั้งบินรบอเนกประสงค์ เจ-16 เชิงหยาง ซูคอย-30 แฟลงเกอร์ เครื่องบินทิ้งระเบิดที่มีขีดความสามารถปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ เอช-6 ไปจนถึงเครื่องบินต่อต้านเรือดำน้ำ เคคิว-200 และเครื่องบินตรวจการณ์ เคเจ-500

การล่วงล้ำเขตป้องกันของไต้หวันครั้งนี้ มีขึ้นในพื้นที่พิพาท “เกาะปราตาส” ห่างจากไต้หวันไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 548 กิโลเมตร ห่างจากฮ่องกงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 320 กิโลเมตร ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ในการดูแล โดยไต้หวันเคลมว่าเกาะอยู่ภายใต้การบริหารของเทศบาลเมืองเกาสง ขณะที่จีนระบุเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง

จนทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จีนจะยกระดับแผนการรวมชาติ ตามนโยบาย “จีนเดียว” ให้เร็วขึ้น โดยเริ่มจากการปักหมุดในเกาะปราตาส ซึ่งมีทั้งสนามบินและค่ายทหารนาวิกโยธินไต้หวันตั้งอยู่ ซึ่งก็สะท้อนออกมาในแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมไต้หวัน ที่ประกาศว่า มาถึงจุดความสัมพันธ์ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 40 ปี และกองทัพจีนจะมีขีดความสามารถในการรุกรานไต้หวันแบบเต็มรูปแบบภายในปี 2568

เช่นเดียวกับ พล.ร.อ.ฟิล เดวิดสัน อดีตผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก เคยให้การต่อคณะกรรมาธิการสภาคองเกรสสหรัฐฯ ช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาว่า จีนกำลังขยับเข้าใกล้เป้าหมาย “เหนือกว่าสหรัฐฯภายในปี 2593” ไปทุกขณะ แต่ก่อนที่จะบรรลุเป้าเช่นนั้นได้ ไต้หวันคือความทะเยอทะยานที่ต้องทำให้สัมฤทธิผล และทั้งนี้เชื่อว่าภัยคุกคามจะเป็นที่ประจักษ์อย่างแน่นอนภายในทศวรรษนี้

...

หากยึดในทฤษฎีขั้นต้นว่า จีนจะตัดสินใจใช้กำลังเพื่อผนวกไต้หวันอย่างแน่นอน สิ่งที่จะตามมาย่อมเป็นคำถามว่า กองทัพจีนมีความพร้อมที่จะปฏิบัติการขนานใหญ่มากน้อยเพียงใด? กรณีนี้อาจเชื่อมโยงกับการยกระดับฐานทัพสำหรับฝึกซ้อมการรบขั้นสูง ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางภาคเหนือของจีน

ทั้งนี้ ฐานทัพดังกล่าวมีชื่อว่า “จูรีหวา” ก่อตั้งเมื่อปี 2500 เพื่อฝึกซ้อมการเคลื่อนกำลังและฝึกกลยุทธ์กองพลรถถังปลดปล่อยประชาชนจีน แต่ฝ่ายบัญชาการความมั่นคงได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบของฐานทัพอย่างสิ้นเชิง เพื่อยกระดับกองทัพจีนให้มีความพร้อม

ในการทำสงครามกับอริราชศัตรูที่เหนือชั้นกว่ามาก หลังเหตุการณ์สงครามอิรักครั้งที่ 1 สมัยประธานาธิบดีสหรัฐฯจอร์จ บุช เมื่อปี 2534 และเหตุการณ์กองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ เคลื่อนกำลังมายังช่องแคบไต้หวัน สมัยประธานาธิบดีสหรัฐฯบิล คลินตัน เมื่อปี 2539

การพัฒนาจูรีหวาได้ดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ จนกระทั่งช่วงปี 2557 จึงมีข้อมูลเล็ดลอดออกมาว่า ภายในฐานทัพได้มีการฝึกฝนหน่วยรบที่ใช้กลยุทธ์ของต่างชาติไว้สำหรับเป็นข้าศึกสมมติในการฝึกซ้อม ทั้งจำลองสิ่งก่อสร้างเสมือนจริงไว้มากมาย อย่างฐานจำลองที่ถอดแบบมาจากฟอร์ต เออร์วินของสหรัฐฯ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์กังวลมากกว่า คือมีการจำลอง “ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวัน” ไว้ในฐานทัพ ไปจนถึงเมืองจำลอง และสนามบินจำลอง ซึ่งย่อมหมายความว่า หากเกิดสถานการณ์จริง คอมมานโดจีนจะสามารถเข้าควบคุมศูนย์กลางอำนาจของไต้หวันได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ในปี 2562 ภาพถ่ายดาวเทียมสหรัฐฯตรวจพบว่า กองทัพจีนได้มีการสร้างฐานทัพเฮลิคอปเตอร์แห่งใหม่ ภายในมณฑลฝูเจี้ยน ที่อยู่ตรงข้ามกับเกาะไต้หวัน ซึ่งฝ่ายความมั่นคงอเมริกันประเมินว่า การตั้งฐานทัพที่ห่างจากไต้หวันประมาณ 240 กิโลเมตร ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะมาสนับสนุนปฏิบัติการของกองทัพจีนในช่องแคบไต้หวัน หรือถึงขั้นสนับสนุนปฏิบัติการรุกรานไต้หวัน

อย่างไรก็ตาม ต้องมองอีกมุมด้วยว่า การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของกองทัพจีนครั้งนี้ อาจเป็นเพียงการแสดงแสนยานุภาพทางการทหาร หรือที่เรียกกันว่า “โชว์ ออฟ ฟอร์ซ” เบ่งกล้ามข่มขวัญก็เป็นได้ เนื่องจากตลอดเดือน ก.ย. จนถึง ต.ค. กลุ่มพันธมิตรชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ได้เดินเกมความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างเข้มข้นเพื่อสร้างตาข่ายสกัดจีน ทั้งเรื่องการจับภาคี “ออกัส” สหรัฐฯ-อังกฤษ หวังยกระดับกำลังรบด้านเรือดำน้ำของออสเตรเลีย และการยกระดับประสิทธิภาพกองเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่น ในการปฏิบัติการต่างแดน

หรือกรณีอังกฤษเคลื่อนกองเรือราชนาวี มาป้วนเปี้ยนในทะเลจีนใต้ ไปจนถึงข่าวอุบัติเหตุเรือดำน้ำลับสุดยอดชั้นซีวูล์ฟของสหรัฐฯ ชนวัตถุลึกลับในทะเลจีนใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ฝูงเรือดำน้ำที่สำคัญของอเมริกัน ไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล วนเวียนอยู่ในพื้นที่ที่จีนต้องการเป็นเจ้าอิทธิพลนี่เอง

บรรยากาศ “สงครามเย็นรอบใหม่” กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ในห้วงเวลาที่หลายคนเชื่อกันว่า หมดยุคของการเผชิญหน้ากันทางการทหารแล้ว เรื่องราวจะเป็นเช่นไรต่อต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด.

วีรพจน์ อินทรพันธ์