ไม่อยากสติแตกคาสนาม เพราะทนทรมานกับโรคซึมเศร้ามาพักใหญ่ จึงขอถอนตัวจากวงการไม่มีกำหนด เพื่อรักษาสภาพจิตใจ!! “นาโอมิ โอซากะ” นักเทนนิสมือวางอันดับสองของโลก ลูกครึ่งญี่ปุ่น–เฮติ ไม่ใช่นักกีฬาดังคนเดียวที่เผชิญปัญหาสุขภาพจิต เพราะทนรับแรงถาโถมจากชื่อเสียงเงินทอง และการรุมเร้าของสื่อไม่ไหว

“ฉันต่อสู้กับโรคซึมเศร้ามาตั้งแต่ได้แชมป์ยูเอส โอเพ่น 2018 ต้องเผชิญช่วงเวลายากลำบากในการจัดการกับมัน ใครรู้จักฉันดีจะรู้ว่าฉันเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง เวลาอยู่ในทัวร์นาเมนต์จึงสวมหูฟังตลอดเวลา เพราะมันช่วยลดความวิตกกังวลในการเข้าสังคม ถึงแม้นักข่าวจะใจดีกับฉันเสมอและต้องขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ฉันก็ไม่ใช่คนชอบพูดในที่สาธารณะเลย ทุกครั้งที่ต้องให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ฉันจะรู้สึกประหม่าและวิตกกังวลมาก ฉันพบว่ามันเครียดมากที่ต้องพยายามมีส่วนร่วมและให้คำตอบที่ดีที่สุดกับพวกเขา” นักเทนนิสสาวดาวรุ่งเปิดใจผ่านทวิตเตอร์และอินสตาแกรมส่วนตัว หลังประกาศถอนตัวจากการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม เฟรนช์ โอเพ่น 2021 ทั้งๆที่กำลังท็อปฟอร์ม พร้อมขอวางมือจากการแข่งขันทุกรายการเพื่อไปซ่อมจิตใจ ทั้งนี้ เรื่องราวบานปลายใหญ่โตเพราะเธอปฏิเสธไม่พูดคุยกับสื่อหลังจบการแข่งขัน ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎเหล็กของแกรนด์ สแลม 4 รายการใหญ่ ทั้งเฟรนช์ โอเพ่น, ยูเอส โอเพ่น, ออสเตรเลียน โอเพ่น และวิมเบิลดัน จนนำไปสู่การคาดโทษและปรับเงิน 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ท่ามกลางความดำมืดของวงการกีฬาโลก ที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะและตักตวงผลประโยชน์มหาศาล “โอซากะ” ไม่ใช่เหยื่อรายเดียวที่ต้องเผชิญกับปัญหาทางจิต!! จากการศึกษาของสมาคม “Athletes for Hope” ซึ่งมุ่งให้ความรู้และช่วยเหลือนักกีฬาทั่วโลก บ่งชี้ว่า มีนักกีฬาระดับหัวกะทิของโลกถึง 35% ที่ประสบปัญหาสุขภาพจิตขั้นวิกฤติ โดยแสดงอาการเครียด, หดหู่ซึมเศร้า, มีความผิดปกติทางการกิน, วิตกกังวล, ตื่นตระหนก และเหนื่อยหน่ายท้อแท้กับชีวิต

...

ทุกข์ทรมานกับปัญหาทางจิตหนักหน่วงกว่าใครคือ “ไมเคิล เฟลป์ส” นักว่ายน้ำทีมชาติที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 28 เหรียญ จากการแข่งขัน 5 สมัย เขาเคยคิดสั้นฆ่าตัวตาย หลังต้องต่อสู้กับภาวะซึมเศร้ามานาน โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยา จนต้องออกมาตีแผ่ด้านมืดของวงการกีฬาโลก ผ่านสารคดีของ HBO เรื่อง “The Weight of Gold”

“ผมไม่อยากเห็นใครฆ่าตัวตายอีกแล้ว!!” ทั้งๆที่เขาคือสัญลักษณ์ความสำเร็จของมหกรรมกีฬาโลก แต่ “เฟลป์ส” กลับรู้สึกว่างเปล่าและกลายเป็นคนไร้ค่าทันทีที่การแข่งขันจบลง

“ผมรู้สึกว่าผมเป็นนักกีฬาว่ายน้ำแค่นั้นจริงๆ ไม่ใช่มนุษย์เหมือนคนอื่น ผมเลยถามตัวเองว่า ทำไมผมไม่จบทุกอย่างลงซะตอนนี้!! เมื่อมองย้อนกลับไปในอาชีพ ผมไม่คิดว่าจะมีใครสนใจช่วยเราอย่างจริงจัง ไม่คิดว่าจะมีใครเข้ามาถามเราว่าโอเคจริงๆไหม ตราบใดที่เรายังทำผลงานได้ดี “เป็นทรัพย์สินที่มีค่า” ก็ไม่มีสิ่งอื่นสำคัญสำหรับพวกเขา” เฟลป์ส ระบายความอัดอั้น

ทางการโอลิมปิก สหรัฐอเมริกา โต้ว่า “เฟลป์ส” ได้รับอภิสิทธิ์เหนือทีมชาติคนอื่นๆ ทั้งการคัดสรรโค้ชที่ดีที่สุด, สถานที่ฝึกซ้อมหรูหราที่สุด, เข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยทุกอย่าง และยังจ้างผู้เชี่ยวชาญทุกด้านดูแลใกล้ชิด แต่นักว่ายน้ำในตำนานกลับมองว่า สิ่งที่นักกีฬาต้องการจริงๆคือ การสนับสนุนด้านจิตใจด้วยความจริงใจ แทนที่จะมุ่งเตรียมความพร้อมด้านสภาพจิตใจเพื่อชัยชนะในการแข่งขัน และเมื่อฟอร์มตกก็ถูกทอดทิ้งไม่ไยดี

ก่อนหน้านี้ อดีตนักยิมนาสติกทีมชาติอังกฤษ “ลิซ่า เมสัน” ก็ออกมาเรียกร้องให้นักยิมนาสติกทั่วโลก ช่วยกันตีแผ่ “วัฒนธรรมอันโหดร้าย” ของวงการกีฬายิมนาสติก ที่ทารุณกรรมนักกีฬาอย่างหนักเพื่อแลกกับชัยชนะ หดหู่กว่านั้นเกิดโศกนาฏกรรมในวงการกีฬาเกาหลี เมื่อนักไตรกีฬาหญิงทีมชาติฆ่าตัวตาย ด้วยวัยเพียง 22 ปี เพราะโดนโค้ชทำร้ายร่างกายอย่างหนัก หลังพลาดการแข่งขันสำคัญ ขณะที่อดีตนักวอลเลย์บอลทีมชาติอีกราย ปลิดชีวิตตัวเองในบ้าน เพื่อหนีความอับอายที่โดนตำหนิฟอร์มการเล่นตก.

มิสแซฟไฟร์