ปัจจุบันพื้นที่ธรณีวิทยาหมวดหิน Hanna Formation ทางตอนใต้ของรัฐไวโอมิง ในสหรัฐอเมริกา อยู่ห่างจากมหาสมุทรที่ใกล้ที่สุดหลายร้อยกิโลเมตร แต่เมื่อช่วง 58 ล้านปีก่อน ดินแดนแถบนี้ไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้ งานศึกษาล่าสุดของทีมวิจัยนำโดยแอนตัน โรบริวสกี นักธรณีวิทยา Texas A&M Natural Resources Institute ในอเมริกา เผยว่าพื้นที่แห่งนี้ในอดีตเคยเป็นฝั่งทะเลสาบและมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเดินทางสัญจรไปมา
หลักฐานที่พบก็คือซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลรอยเท้าของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายรอย สันนิษฐานว่าเป็นของโครีโฟดอน (Coryphodon) มีขนยาว ขนาดเท่าฮิปโปโปเตมัส รอยเท้าชุดหนึ่งมี 5 นิ้วค่อนข้างใหญ่เทียบได้กับขนาดเท้าของหมีสีน้ำตาลในปัจจุบัน ขณะที่อีกชุดหนึ่งเป็นรอยเท้าขนาดกลาง 4 นิ้ว เชื่อว่าเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่รวมกลุ่มใกล้มหาสมุทร และชี้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้อาจใช้แหล่งที่อยู่อาศัยทางทะเลเป็นครั้งแรกอย่างน้อย 9.4 ล้านปีก่อนที่ไดโนเสาร์ที่ไม่ได้วิวัฒนาการไปเป็นนกจะสูญพันธุ์ไป
ทั้งนี้ ทีมวิจัยเผยว่าฟอสซิลพืชและละอองเรณูช่วยให้ระบุอายุของเส้นทางรอยเท้า ว่ามีอายุราว 58 ล้านปีในสมัยพาเลโอซีน (Paleocene) ทั้งนี้ มีการค้นพบหลักฐานก่อนหน้าว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางทะเลมาตั้งแต่สมัยอีโอซีน (Eocene) อย่างไรก็ตาม รอยเท้าที่พบใน Hanna Formation บ่งชี้ว่านี่คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสมัยพาเลโอซีนตัวแรกที่พบในสหรัฐอเมริกา และเป็นอันดับ 4 ของโลกต่อจาก 3 อันดับก่อนหน้านั่นคือ รอยเท้า 2 ชุดพบในแคนาดา และอีก 1 ชุดพบในดินแดนสวาลบาร์ดของนอร์เวย์.
ภาพ Credit : Anton Wroblewski