โลกของเราตั้งอยู่ภายในดาราจักรหรือกาแล็กซีทางช้างเผือก ดังนั้น เราจึงไม่อาจย้อนกลับไปดูว่ากาแล็กซีมีลักษณะอย่างไรจากภายนอก แต่นักดาราศาสตร์ก็พยายามสร้างเครื่องมือเพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างโดยรวมของกาแล็กซีและตำแหน่งของโลกเรา ในปี พ.ศ.2543 จึงได้เกิดโครงการเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ VERA (VLBI Exploration of Radio Astrometry) ของญี่ปุ่น เพื่อทำแผนที่ความเร็ว 3 มิติและโครงสร้างเชิงพื้นที่ในทางช้างเผือก

VERA ใช้เทคนิคอินเทอร์เฟอโรเมทรี (Interferometry) รวมข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่กระจัดกระจายทั่วหมู่เกาะญี่ปุ่นเพื่อให้ได้ความละเอียดเช่นเดียวกับกล้องโทรทรรศน์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2,300 กิโลเมตร ล่าสุด นักดาราศาสตร์ของหอดูดาวแห่งชาติญี่ปุ่น (National Astronomical Observatory of Japan) เผยพบว่าโลกเคลื่อนเร็วขึ้น 7 กิโลเมตร/วินาที และอยู่ในตำแหน่งใกล้กับหลุมดำมวลยิ่งยวด “ซาจิทาเรียส เอ สตาร์” (Sagittarius A * หรือ Sgr A *) ที่ตั้งอยู่ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกประมาณ 2,000 ปีแสง เรียกว่าใกล้กว่าที่เคยคิดไว้

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์เผยว่า ไม่ต้องกังวลไป การค้นพบนี้ไม่ได้หมายความว่าโลกของเรากำลังขยับเข้าใกล้ Sgr A * จริงๆ และก็ไม่ได้อันตรายว่าจะถูกหลุมดำเขมือบ แต่แผนที่ทางช้างเผือกได้รับการปรับเปลี่ยนให้ระบุตำแหน่งที่โลกเราอยู่ได้แม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้แผนที่ยังแสดงให้เห็นว่าศูนย์กลางกาแล็กซีอยู่ห่างจากโลก 25,800 ปีแสง แทนที่จะเป็น 27,700 ปีแสงอย่างที่สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2528.

ภาพ Credit : National Astronomical Observatory of Japan