ศึกษาใหม่ไดโนเสาร์ไดโลโฟซอรัส
ศึกษาใหม่ไดโนเสาร์ไดโลโฟซอรัส
ไทยรัฐฉบับพิมพ์
Credit : Matthew Brown / UT Austin Jackson School of Geosciences
หนึ่งในไดโนเสาร์ที่ปรากฏตัวในหนังเรื่อง “จูราสสิก พาร์ค” (Jurassic Park) และยังเป็นที่จดจำของแฟนหนังก็คือไดโลโฟซอรัส (Dilophosaurus) หรือกิ้งก่า 2 หงอน มีชีวิตอยู่เมื่อ 183 ล้านปีก่อนในยุคจูราสสิก หากยังจำกันได้จากหนัง วีรกรรมที่ติดตาของเจ้าไดโลโฟซอรัสก็คือมันพ่นน้ำลายพิษและรอบคอขยายออกเป็นแผง
ข่าวแนะนำ
นักบรรพชีวินวิทยาจากอุทยานแห่งชาติป่าหิน (Petrified Forest National Park) ในอริโซนา ที่จับงานวิจัยไดโนเสาร์ไดโลโฟซอรัสมาตั้งแต่ศึกษาในมหาวิทยาลัยเท็กซัส ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัย ธรณีศาสตร์แจ็คสัน ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เผยการวิเคราะห์ซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลไดโลโฟซอรัส ครั้งใหม่ อาจช่วยให้เข้าใจถึงลำดับวงศ์ตระกูลของไดโนเสาร์ที่ดูตัวเล็กเหมือนกิ้งก่าในหนัง แต่จริงๆแล้วไดโลโฟซอรัส อาจเป็นสัตว์บกขนาดใหญ่ที่สุดในยุคจูราสสิก โดยมีความยาวถึง 6 เมตร

ทีมเผยว่าไดโลโฟซอรัสดูจะคล้ายกับนกยุคปัจจุบันมากกว่ากิ้งก่า หลัง จากพบว่าขากรรไกรล่างแสดงสัญญาณทำหน้าที่เป็นแกนสำหรับกล้ามเนื้อ และพบว่ากระดูกบางส่วนมีจุดด่างดำในช่องอากาศ เหมือนถูกห่อหุ้มด้วยฟองอากาศ ซึ่งช่วยเสริมโครง กระดูกและยอดหงอนคู่ให้แข็งแรงขึ้น ถุงลมเอกลักษณ์นี้ไม่ได้มีแค่ในไดโลโฟซอรัส แต่นกยุคปัจจุบัน และไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ก็มีกระดูกที่เต็มไปด้วยช่องอากาศเช่นกัน ถุงลมจะช่วยแบ่งเบาภาระให้ไดโนเสาร์ตัวใหญ่จัดการร่างอันเทอะทะใหญ่โตของมัน และช่วยนกทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า.