“จิตไร้สำนึก (Unconcious Mind) มีอิทธิพลและมีบทบาทสำคัญต่อบุคลิกภาพและการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์มากที่สุด”
ซิกมันด์ ฟรอยด์
จิตแพทย์ชาวออสเตรีย
จากกรณีคดีความที่เห็นลง น.2 ของไทยรัฐ เรื่องบุรุษพยาบาลคนหนึ่ง ชื่อ นาธาน ซัตเตอร์แลนด์ อายุ 36 ปี ในเมืองฟีนิกซ์ รัฐอริโซนา ของสหรัฐฯ ขืนใจผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพ “ผัก” จนท้องแล้วคลอดลูกชายเมื่อ 29 ธันวาฯ กลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่ ถึงความปลอดภัยของคนไข้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ + ความอับอาย จนต้องตรวจสอบเรื่องระเบียบวินัย ขอลาออกตั้งแต่ระดับพนักงานไปถึงผู้จัดการ รวมระดับซีอีโอของทาง โรงพยาบาล Hacienda Healthcare เพราะเกิด “สำนึก” ในใจ ส่วนทาง ตร.ก็ไล่หาตัวอย่าง DNA กับลูกจ้างชายทุกคน ...ตรงกับของ นาธาน จึงถูกตั้งข้อหา 2 กระทง (เศร้า ผู้ป่วยหญิง ‘สภาพผัก‘ โดนข่มขืนคาสถานดูแลในสหรัฐฯ จนท้องคลอดลูก)
แม้เขาปฏิเสธเสียงแข็ง แต่พนักงานสอบสวนพบว่า เขาคอยดูแลพยาบาลเหยื่อเกือบตลอดเวลาตั้งแต่ได้มาทำงานที่ รพ. เมื่อปี 2555 จึงเชื่อว่าเป็นผู้ข่มขืนเหยื่อ

...
เอเซลลา เบอร์ร เพื่อนบ้านเก่าบอกว่า เมื่อ 5 ปีก่อน นาธานเคยมาอยู่บ้านใกล้กัน ตอนนั้นมีภรรยากับลูกๆ อีก 4 คน แล้วทุกวันอาทิตย์ ก็เห็นสองผัวเมียเข้าโบสถ์คริสต์ เคยคุยๆกันบ้าง แต่ก็ยังไม่อยากจะเชื่อว่า เขาข่มขืนคนไข้ เพราะเขาเคยพูดว่า ทำงานเป็นบุรุษพยาบาล และชอบงานนี้ด้วย
เห็นหน้าตาดุดันปนโหด ไม่น่าสอบบุรุษพยาบาลจนได้ใบประกาศ แต่เมื่อปี พ.ศ.2553 นาธานเคยฟอร์มทีมกับน้องสาวจัดงาน “ฮิพฮอพ 4 เฮติ” เชิญชวนคนทั่วประเทศบริจาคสิ่งของช่วยชาวเฮติที่เจอแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เพราะทั้งคู่เป็นเด็กกำพร้าชาวเฮติ ที่มีพ่อแม่คาทอลิกชาวอเมริกันรับเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ตอนนาธานอายุ 7 ขวบ
ที่ผ่านมา ก็ไม่เคยต้องคดีมีประวัติอาชญากรรม ออกจะโลว์โปรไฟล์ ทำตัวเงียบๆ เพิ่งหย่ากับเมียเมื่อเดือนที่แล้ว กลายเป็นพ่อม่ายเลี้ยงลูกๆ

ส่วนเหยื่อสาวซึ่งมีอายุ 29 ปี นอนติดเตียงตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ทางบ้านออกมาชี้แจงแล้วว่า เธอบกพร่องทาง สติปัญญา (Intellectual Disabilities) เพราะอาการชักตั้งแต่เด็ก ถึงจะพูดไม่ได้ แต่สามารถขยับแขนขา ศีรษะ คอได้ และตอบสนองเสียงที่ได้ยิน แสดงสีหน้าได้ ไม่ได้ป่วยขั้น “โคม่า”
เรื่องราวที่เกิดขึ้นคลับคล้ายภาพยนตร์สเปน “talk to her” บอกเธอให้รู้ว่ารัก กำกับโดย เปโดร อัลโมโด-วาร์ ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม พ.ศ.2546 กับรางวัลตุ๊กตาทองคำของสเปนในงาน Goya Awards และ Time Magazine เคยเลือกให้เป็น 1 ใน 100 เรื่องสุดยอดตลอดกาล
แม้ธีมของหนังจะมีความละเมียด และลึกซึ้งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง แต่ “เจ๊หม่า” มองคนรับบทเล่นเป็นบุรุษพยาบาล ที่อ่อนโยนกับโลกภายนอก อยู่กับบ้านคอยดูแลรักษาแม่ป่วย “โคม่า” มาตลอดจนเสียชีวิต แล้วไปหลงรักนักบัลเล่ต์สาว ที่ต่อมาประสบอุบัติเหตุรถชน นอนเป็น “เจ้าหญิงนิทรา”

และเพราะด้วยความสามารถ + ประสบการณ์ที่มี แม้กระทั่งโกหกเพศสภาพของตัวเองว่าไม่ชอบผู้หญิง ตบตาได้แม้กระทั่งพ่อของคนไข้ที่เป็นจิตแพทย์ ทำให้ตัวละครหลักได้เข้าไปดูแลหญิงสาวที่ตัวเองรักที่คลินิกนานถึง 4 ปี คอยทำความสะอาดเรือนร่าง เปลี่ยนเสื้อ ทาโลชั่น นวดตัว ตัดผม พาออกนอกห้องตากแดด เล่าเรื่องละครใบ้ที่หญิงชอบ และเรื่องทั่วไปเหมือนเป็นเพื่อนคุยกัน
...
จนเกิดจุดหักเหที่ทำให้ตัวบุรุษพยาบาลหนุ่มตกอยู่ในภาวะ “จิตไร้สำนึก” ระหว่างเล่าเรื่องราวของหนังสั้นเงียบที่เขาไปดูมา (ในหนังสั้นมีฉากการมีเพศสัมพันธ์ภาพบรรยายผ่านภาพศิลปะขาวดำ) ต่อมาไม่นานคนไข้สาวตั้งครรภ์ ตัวเขาเองในฐานะผู้ต้องสงสัยก็เลยถูกจับติดคุก หมดโอกาสได้เจอหน้าคนรักที่ตั้งท้อง เพราะโดนกล่าวหาว่าเป็นโรคจิตไปแล้ว ส่วนหญิงสาวเองอาการป่วยกลับหายจนเกือบเป็นปกติอย่างปาฏิหาริย์ เหลือแค่เพียงต้องทำกายภาพบำบัด แต่ไม่เคยรับรู้เรื่องราวว่าเรือนร่างของเธอถูกกระทำ เพราะทาง รพ. + คนรอบข้าง ปกปิดทุกอย่าง ส่วนลูกก็แท้งก่อนเธอหาย
สุดท้ายเรื่องราวความรักของบุรุษพยาบาลก็กลายเป็นโศกนาฏกรรม ที่ทิ้งความคลุมเครือไว้ในจิตสำนึกของหญิงสาว

ในวันนี้วันที่เธอฟื้นตื่นจากหลับใหลกลายเป็นคนปกติ ในบางห้วงเวลาหนึ่งไม่แน่นักเธออาจจะจำได้ว่า วันที่เธอนอนหลับใหลเป็นเจ้าหญิงนิทราอยู่นั้น “จิตสำนึก” ของเธอ คงได้ยินเสียงบุรุษพยาบาลคนหนึ่งที่เฝ้าเพียร “talk to her” ด้วยความรักอย่างอ่อนโยนอยู่เป็นแรมปี
...
ทั้งเหตุการณ์จริงและจากภาพยนตร์น่าจะปลุกสำนึกบางอย่างให้แก่สังคม เพราะคนที่ “หลับใหล” ไม่น่าจะเป็นคนไข้ที่นอนนิ่งอยู่บนเตียง แต่คนรอบข้างทั้ง รพ./คนดูแล หรือแม้กระทั่งครอบครัวของคนไข้เองต่างหาก

ที่ละเลยปล่อยให้จิตสำนึก “หลับใหล” เพิ่งตื่น “ล้อมคอก” ดำริตั้งกล้องวงจรปิดดูแลผู้ป่วยติดเตียง...
“#เจ๊หม่า”