จีนสนใจสารสกัดจากพืชถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงขนาดทุ่มวิจัยและพัฒนาในสมุนไพรสะเดา ขิง ข่า ตะไคร้ ดาวเรือง พริก ขมิ้น และมะกรูด ผมมีความเชื่อว่าในอนาคต โลกจะต้องซื้อสารสกัดอินทรีย์สมุนไพรไล่แมลงจากบริษัทของจีน
หน่วยงานด้านวิชาการเกษตรของหลายประเทศไม่ยอมให้ปราชญ์ชาวบ้านหรือเกษตรกรหัวก้าวหน้าผลิตสารสกัดอินทรีย์สมุนไพรไล่แมลง ถ้าทำใช้เองเล็กน้อย ก็เมตตาอนุญาตให้ทำได้ แต่ถ้าจะทำเป็นปริมาณมากเพื่อจำหน่าย ไม่สามารถทำได้ หน่วยงานด้านวิชาการเกษตรของบางประเทศจึงจัดสะเดา ขิง ข่า ตะไคร้ดาวเรือง พริก ขมิ้น และมะกรูด เป็นวัตถุอันตราย เพื่อให้อยู่ในกำกับของตนเอง ทำให้เกิดความยุ่งยากในการผลิตจำนวนมากเพื่อจำหน่าย
หน่วยงานของรัฐบางประเทศสร้างมาตรฐานสูงเกินกว่าที่ปราชญ์ชาวบ้านหรือเกษตรกรหัวก้าวหน้าจะปฏิบัติตามได้ เหมือนกับเอามาตรฐานเมอร์ซิเดสเบนซ์มากำกับรถอีแต๋น วิธีการอย่างนี้ทำให้เกษตรกรง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่มีการพัฒนาต่อยอดความรู้ด้านสารสกัดอินทรีย์จากพืชท้องถิ่น บั้นปลายท้ายที่สุด ก็ต้องหันกลับไปใช้สารเคมีเหมือนเดิมเพราะซื้อง่ายกว่า และเป็นพื้นฐานเดิมที่เกษตรกรคุ้นเคยอยู่ก่อนแล้ว
การใช้สารเคมีก็ทำให้มีสารพิษตกค้างอยู่ในผลผลิตทางการเกษตร เมื่อส่งไปขายต่างประเทศ ก็ถูกห้ามเข้าประเทศ ผลร้ายกลับมาที่เกษตรกรผู้ผลิตเพราะผลิตได้ แต่ขายไม่ได้
หน่วยงานรัฐบางประเทศสร้างตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่ตรวจจับเกษตร” ที่มองปราชญ์ชาวบ้านและเกษตรกรหัวก้าวหน้าเป็นผู้ร้าย พวกนี้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างแยบยล เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทเคมียักษ์ใหญ่ ทำหน้าที่ยึด จับ ปรับ เกษตรกรที่เอาพืชพื้นถิ่นมาสกัดเพื่อใช้แทนสารเคมี
เจ้าหน้าที่ตรวจจับเกษตรจะตระเวนไปตามกลุ่มและชมรมเกษตรปลอดสารพิษต่างๆ จากนั้นก็จะใช้กฎหมายลงไปจัดการ เช่น ร้านค้าเกษตรจะต้องมีใบครอบครองวัตถุอันตรายที่ต้องต่อใบอนุญาตทุกปี ทั้งที่ขายพวกสมุนไพร สารชีวภัณฑ์ หรือปุ๋ยชีวภาพ กลุ่มปลอดภัย นี่คือความพิกลพิการของกลไกภาครัฐที่เรียก “สารจากพืชสมุนไพรพื้นถิ่น” ว่า “วัตถุอันตราย”
...
เมื่อเกษตรกรอ่านฉลากข้างกระป๋องสารชีวภัณฑ์ปลอดภัยเจอคำว่า วัตถุอันตราย ก็จะเกิดความสับสน รัฐของบางประเทศยังสร้างความกลัวให้คนที่เกี่ยวข้อง เมื่อพนักงานที่ขายสารปลอดภัยเหล่านี้เจอเจ้าหน้าที่มาตรวจบ่อยๆ ก็กลัวและลาออก ต้องหาพนักงานขายมาทดแทนอยู่เรื่อยๆ พนักงานใหม่ยังไม่ได้ผ่านการอบรมก็จะถูกจับซ้ำซากเป็นวัฏจักร
ต่างประเทศที่ผมเคยเดินทางไปเยือนพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐจับร้านขายสินค้าชีวภัณฑ์ขนาดใหญ่เพื่อเอาผลงานลงสื่อ ส่วนร้านขนาดเล็กก็จะเรียกเงิน บางรายโดนโทษติดคุกตั้งแต่ 1-5 ปี พวกบริษัทเคมีขนาดใหญ่นายทุนชาติจึงใช้วิธีการจัดให้มีการออกกฎหมายที่มัดมือมัดเท้าเกษตรกรรายย่อย ปราชญ์ชาวบ้าน และเกษตรกรหัวก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ
สารเคมียังทำให้เกิดการเจ็บป่วย รัฐต้องเสียงบประมาณสาธารณสุข บางประเทศเป็นชาติรัฐขนาดกลาง ทว่านำเข้าวัตถุอันตรายจากต่างประเทศปีหนึ่งเกือบจะ 2 แสนตัน สินค้าเกษตรก็ขายไม่ได้ ผู้คนก็เจ็บป่วย หันไปทางไหนก็เจอแต่คนเป็นมะเร็ง สภาพแวดล้อมและต้นทุนทางธรรมชาติก็ถูกทำลาย
สารเคมีที่เป็นยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าหนอนแมลงศัตรูพืช ปีละเกือบ 2 แสนตันเหล่านี้ ถูกนำไปอาบชโลมห่มดิน โดยเฉพาะป่าต้นน้ำของประเทศที่ถูกถางจนเหี้ยนเตียนโล่ง แล้วก็หันมาปลูกข้าวโพดและพืชล้มลุกประเภทอื่นแทน เมื่อฝนตกก็ชะล้างเอาสารพิษไหลไปสู่ห้วยหนองคลองบึง กุ้งหอยปูปลากลายพันธุ์ ต้นทุนทางธรรมชาติถูกทำลาย
สารเคมีฆ่าหญ้ามีการปนเปื้อนที่เข้มข้นมาก ปนเปื้อนไปในน้ำดิบจากธรรมชาติเมื่อภายหลังมาทำน้ำประปาที่แม้ผ่านกระบวนการแล้วก็ยังมีสารพิษตกค้าง มีการนำน้ำนมของแม่ลูกอ่อนไปตรวจก็ยังพบสารพิษ ทารกดื่มกินก็เป็นอันตราย
นี่คือสิ่งที่ “บางประเทศ” ต้องแก้ไขโดยด่วนครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com