เพียงแค่จะสำรวจแหล่งน้ำใต้ดินบนคาบสมุทรอาหรับฝั่งตะวันออก แต่ทีมสำรวจที่นำโดยนักวิจัยจากศูนย์วิจัยน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา กลับค้นพบโครงร่างของการตั้งถิ่นฐานที่ดูเหมือนจะมีอายุมากกว่า 3,600 ปีโดยบังเอิญ
โครงร่างร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานนี้เป็นพื้นที่ขนาด 2 × 3 กิโลเมตรในพื้นที่ของกาตาร์ ถูกค้นพบโดยใช้เรดาร์ชนิดช่องรับคลื่นสังเคราะห์ที่เรียกว่า L-Band Synthetic Aperture Radar จากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ “เอแอลโอเอส 1” และ “เอแอลโอเอส 2” (Advanced Land Observation Satellite-ALOS) ของญี่ปุ่น จนได้ภาพเรดาร์ความละเอียดสูงเป็นพิเศษ แสดงให้เห็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานที่เรียกว่า “Makhfia” ที่เชื่อว่าสร้างขึ้นโดยฝีมือมนุษย์เนื่องจากรูปร่างและองค์ประกอบของดินมีความแตกต่างอย่างมากกับลักษณะทางธรณีวิทยาโดยรอบ ตัวอย่างของธาตุคาร์บอนที่นำมาผ่านการสังเคราะห์ทางเคมีบ่งชี้ว่าพื้นที่ดังกล่าวมีอายุอย่างน้อย 3,650 ปี ย้อนหลังไปถึงอารยธรรมดิลมุน (Dilmun)

...
นักวิจัยอธิบายว่าสถานที่นี้คล้ายกับป้อมปราการตามธรรมชาติที่ล้อมรอบด้วยภูมิประเทศที่ขรุขระมาก จนเกือบจะทำให้เป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ การค้นพบนี้มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์และทางวิทยาศาสตร์ เพราะอาจเป็นหลักฐานชิ้นแรกเกี่ยวกับชุมชนที่เคยอาศัยอยู่ประจำในพื้นที่นี้ในอดีต และอาจเป็นหลักฐานของความก้าวหน้าทางวิศวกรรมในช่วงเวลานั้น.
(ภาพประกอบ credit : University of Southern California)