ข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์สามารถรวบรวมได้จากซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ส่วนใหญ่นั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะทางสัณฐานวิทยาของฟอสซิล แต่การศึกษาโครงสร้างภายในของมัน โดยทั่วไปจะต้องตัดส่วนที่บางออกมา ซึ่งเป็นการทำลายฟอสซิลเหล่านั้น นักวิจัยจึงเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีการสแกนที่มีความละเอียดสูง เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีทีสแกน เพื่อสร้างโครงสร้างภายในใหม่แบบ 3 มิติโดยใช้รังสีและซอฟต์แวร์ดิจิทัล
แม้การทำซีทีสแกนจะไม่ทำฟอสซิลเสียหาย อีกทั้งยังสร้างข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่การสแกนแยกความแตกต่างของวัสดุต่างๆ เช่น ฟอสซิลกระดูกกับหินที่หุ้มมันไว้ ขึ้นอยู่กับการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์และความหนาแน่นใกล้เคียงกันอาจทำให้ยากต่อการพิจารณาว่าวัตถุชิ้นหนึ่งมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดที่ใด นักวิจัยจึงต้องพึ่งพาการแบ่งส่วนด้วยตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้แรงงานมากในการจำแนกส่วนที่คล้ายคลึงกันกับภาพที่ได้จากการซีทีสแกน เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยนำโดยนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัยริชาร์ด กิลเดอร์ แห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติ ศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน ในสหรัฐ อเมริกา เผยว่า การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence-AI) จะสามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ฟอสซิลไดโนเสาร์ได้เทียบเท่าการใช้ซีทีสแกน แต่ทำได้รวดเร็วกว่ามาก
ทีมงานได้ฝึกฝนและทดสอบเอไอโดยใช้ซีทีสแกนมากกว่า 10,000 ครั้งกับกะโหลกตัวอ่อน 3 ชิ้นของโปรโตเซอราทอปส์ (Protoceratops) ญาติที่เล็กกว่าไทรเซอราทอปส์ (Triceratops) ที่ถูกรักษาไว้อย่างดี ได้จากทะเลทรายโกบีในมองโกเลียในยุค 1990 พบว่าความแม่นยำและความเร็วในการประมวลผลแสดงให้เห็นว่าโครงข่ายประสาทเทียมเพื่อการเรียนรู้เชิงลึก สามารถลดเวลาลงได้อย่างมากในการแยกแยะฟอสซิลจากหิน.
...