ปลาหมึกย่าง อาหารริมทางที่ครองใจคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติมานาน ส่วนมากจะเป็นในรูปปลาหมึกเสียบไม้นำไปย่าง มักใช้ปลาหมึกกล้วยหรือปลาหมึกกระดองย่างทั้งตัว นิยมทานคู่กับน้ำจิ้มซีฟู้ด ให้มีรสชาติอร่อย เปรี้ยวแซ่บหรืออาจผสมน้ำจิ้มหวานเพื่อให้มีรสกลมกล่อม ปลาหมึกย่างหาซื้อทานได้ง่ายทั้งตามตลาดนัด ร้านอาหารริมทางและสั่งซื้อดีลิเวอรี
ทว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังสำหรับคนชอบทานปลาหมึกย่าง คือ ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือฟอร์มาลิน หรือที่มักเรียกกันว่าน้ำยาดองศพ เพราะมีคุณสมบัติช่วยให้ไม่เน่าเปื่อย ทําให้พ่อค้า แม่ค้าบางรายอาจนําสารฟอร์มาลดีไฮด์มาใส่ในอาหาร เช่น ปลาหมึกสดเพื่อคงความสดใหม่ เก็บไว้ขายได้นานๆ ตามธรรมชาติฟอร์มาลดีไฮด์เกิดขึ้นเองในอาหารบางชนิด แต่มีปริมาณน้อยและสลายตัวได้ด้วยความร้อนหรือแสงอาทิตย์ แต่หากอาหารนั้นมีการใช้สารฟอร์มาลดีไฮด์ปริมาณความเข้มข้นสูงเกินไปก็อาจทำให้มีสารฟอร์มาลดีไฮด์ตกค้างอยู่ในอาหารได้
ตามกฎหมายไทย กำหนดห้ามใช้ฟอร์มาลดีไฮด์, สารละลายฟอร์มาลดีไฮด์และพาราฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นอาหาร หรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร เพราะเป็นสารที่อันตรายต่อร่างกาย
โดยทั่วไปร่างกายของคนสามารถกําจัดสารฟอร์มาลดีไฮด์ได้ แต่ถ้าได้รับโดยตรงในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ปวดท้องรุนแรง อาเจียน อุจจาระร่วง หมดสติได้ แต่หากได้รับในปริมาณน้อยๆ แต่สะสมเป็นเวลานานจะส่งผลให้การทํางานของตับ ไต หัวใจและสมองเสื่อมลง
สถาบันอาหาร เก็บตัวอย่างปลาหมึกย่างจำนวน 5 ตัวอย่าง จากตลาดสด 5 ร้าน ในเขตกรุงเทพฯและ จ.ปทุมธานี เพื่อนำมาวิเคราะห์ฟอร์มาลดีไฮด์ ผลวิเคราะห์พบว่าทั้ง 5 ตัวอย่าง พบฟอร์มาลดีไฮด์ตกค้าง 1 ตัวอย่าง เห็นผลอย่างนี้แล้วขอแนะว่าให้เลือกทานปลาหมึกย่างอย่างระมัดระวัง ก่อนซื้อต้องมั่นใจว่าปลาหมึกย่างผ่านการย่างด้วยความร้อนที่เพียงพอและสุกดีแล้ว หรือหากซื้อมาปรุงหรือย่างเอง ควรล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆน้ำ เพื่อความปลอดภัยของร่างกาย.
...

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย
คลิกอ่านคอลัมน์ “มันมากับอาหาร” เพิ่มเติม