เบียร์เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มนุษย์มีความสามารถที่จะทำได้ ซึ่งหากเราต้องการย้อนประวัติความเป็นมาของเบียร์ อาจต้องนับย้อนไปไกลถึงยุคที่อาณาจักรอียิปต์โบราณยังรุ่งเรือง มีความเชื่อหนึ่ง กล่าวว่า ณ ดินแดนอียิปต์โบราณเทพโอไซริส (Osiris) เป็นผู้สอนให้มนุษย์รู้จักกับเครื่องดื่มที่มีชื่อว่าเบียร์ ก่อนที่มันจะแพร่หลายไปในวัฒนธรรมอียิปต์

ที่ประเทศอิหร่านในปัจจุบัน เคยมีการพบขวดเครื่องปั้นดินเผาโบราณ เมื่อนำโบราณวัตถุชิ้นนั้น ไปทดสอบกระบวนการทางเคมี ทำให้ได้คำตอบว่า 7 พันปีที่แล้วในพื้นที่ของประเทศอิหร่านยุคก่อนประวัติศาสตร์ เคยมีการผลิตเบียร์มาก่อน ซึ่งการค้นพบครั้งนั้น ถือเป็นการค้นพบหลักฐานการผลิตเบียร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

ท้ายที่สุดเครื่องดื่มที่มีชื่อว่า เบียร์ ได้ถูกส่งต่อไปยังอารยธรรมเมโสโปเตเมีย อาณาจักรจีนโบราณ ยุโรปยุคหินใหม่ ก่อนที่กระแสธารแห่งกาลเวลามาถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป เบียร์ไม่ได้เป็นเครื่องดื่มที่ดื่มในวงจำกัดเฉพาะในหมู่บ้าน เมือง หรือประเทศตัวเองเท่านั้น แต่ได้กลายสภาพเป็นอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ

ปัจจุบัน เบียร์กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เป็นธุรกิจข้ามชาติ ปริมาณของเบียร์ทั่วโลกหลั่งไหลลงสู่แก้ว ขวด กระป๋อง ถัง ปีละไม่ต่ำกว่า 133 หมื่นล้านลิตร มีเงินหมุนเวียนมากถึง 295 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินไทยราว 9.3 ล้านล้านบาท

...

สำหรับประเทศไทยเท่าที่มีการบันทึก ระบุว่า การผลิตเบียร์ครั้งแรกน่าจะอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2477 โดยบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด

ตัดกลับมาที่ประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559-2560 เคยเกิดกระแส “ตื่นคราฟต์เบียร์” เป็นหนแรก เมื่อหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ข่าวแทบทุกฉบับลงข่าวการจับกุมชายหนุ่มคนหนึ่ง ในข้อหาหมักเบียร์ขายเอง ข่าวนั้นสร้างความสั่นสะเทือนเป็นอย่างยิ่ง เกิดเป็นข้อสงสัยที่มีอย่างมากมายว่า คราฟต์เบียร์ คืออะไร

ปัจจุบัน ชายที่ถูกจับคนนั้น กลายเป็น ส.ส.เขตของพรรคก้าวไกล เขาคือ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร

เท่าพิภพ เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าที่จะก้าวเท้าเข้าไปสู่โลกของคราฟต์เบียร์ เขาก็เหมือนคนอื่นทั่วไปที่ดื่มเบียร์ไปเรื่อย กระทั่งได้เริ่มศึกษาศาสตร์ของเบียร์อย่างจริงจัง

“แต่ก่อนผมก็ดื่มสุราทั่วไป ดื่มไปเรื่อยๆ กระทั่งได้รู้จักกับเบียร์นำเข้า แน่นอนว่าราคาแพง ด้วยฐานะของเด็กเพิ่งเรียนจบก็ได้ดื่มบ้าง ไม่ได้ดื่มบ้าง”

จากนั้นเท่าพิภพได้มีโอกาสไปทำงานที่ร้านบาร์เบียร์สดชื่อดังแห่งหนึ่งย่านเอกมัย-ทองหล่อ ซึ่งที่นั่นมีเบียร์ให้เลือกเยอะมาก ไม่ต่ำกว่า 30 ชนิด

“การทำงานในร้านเบียร์ ทำให้ผมคลุกคลีอยู่กับเบียร์ตลอด 24 ชั่วโมง” เท่าพิภพ เล่าต่อไป กระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง เลยเกิดความคิดว่า อยากที่จะลองทำเบียร์ของตัวเอง โดยได้อ่านสตอรี่ของเบียร์ชนิดต่างๆ จนกลายเป็นความชอบ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว การทำเบียร์ก็ไม่ได้ยากเท่าไร

อย่างไรก็ตาม จากวันที่เท่าพิภพได้ทำคราฟต์เบียร์ของตัวเอง มาจนถึงประเทศไทย พ.ศ. 2563 แม้จะมีกระแสคราฟต์เบียร์ตื่นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่คราฟต์เบียร์ไทย ก็ยังเผชิญปัญหานานัปการ

“ปัญหาของเรื่องนี้มีหลายมุม ถ้าในมุมของศาสนาเป็นการใช้อำนาจนำ เพื่อควบคุมแอลกอฮอล์” เท่าพิภพ กล่าว ซึ่งเรื่องนี้ อันที่จริงเป็นปัญหาที่เจอกันทั้งโลก สหรัฐอเมริกาในอดีต ก็เคยใช้มิติทางศาสนามาควบคุมเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ในส่วนของ NGO (Non Governmental Organizations) ก็ใช้แบบแผนของเมืองนอก เพื่อควบคุมบังคับใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการควบคุมอาจจะได้ผลในช่วงปี 2543 เพราะผู้ผลิตแอลกอฮอล์ของรายย่อยยังมีไม่เยอะ แต่ตอนนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนไป เกิดผู้ผลิตรายย่อยจำนวนมาก มันถึงเวลาที่ควรจะเปลี่ยนแปลงได้แล้ว

“การที่ผู้ผลิตต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนด้วยเงินทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล”

เท่าพิภพ ชี้ชวนให้คิดต่อไปว่า เป็นเรื่องที่น่าเศร้าแค่ไหน ที่คนไทยซึ่งมีความสามารถในการผลิตเบียร์ แต่ในท้ายที่สุด คนที่มีฝีมือเหล่านั้น ก็ต้องมุ่งหน้าไปตีตราแบรนด์เบียร์ของตัวเองในต่างประเทศ แล้วกลับมาขายในประเทศไทย ในฐานะเบียร์นอก

...

“คนทำเบียร์ชาวไทยไม่ได้อยากไปต่างประเทศหรอก มันมีต้นทุนต่างๆ ก็อาภัพอยู่เหมือนกัน ถ้าเปรียบให้ชัดมันก็เหมือนต้องลี้ภัยทางการเมือง น่าเจ็บปวดอยู่นะ”

ที่สำคัญ มันทำให้โอกาสการจ้างงานของคนไทยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเบียร์ต้องหดหายไป “อุตสาหกรรมเบียร์ มีคนที่เกี่ยวข้องเยอะมาก ถ้าเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น การจ้างงานในท้องถิ่นก็จะเกิดขึ้น เป็นการกระจายรายได้ ยังไม่รวมโอกาสที่จะเกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่อีกมหาศาล” ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าว

อย่างไรก็ตาม การที่คราฟต์เบียร์ยังไม่เกิดในไทยเป็นเพราะสาเหตุของผู้มีอำนาจทำให้เกิดการผูกขาดหรือไม่นั้น แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่มีใครมีหลักฐานที่แน่ชัด

เมื่อถามถึงเป้าหมายสูงสุดทางการเมืองในฐานะ ส.ส. ของนักการเมืองหนุ่มที่ชื่อเท่าพิภพ เขาใช้เวลาคิดอึดใจหนึ่ง ก่อนที่จะตอบว่า อยากเห็นแอลกอฮอล์ทุกชนิดปราศจากข้อจำกัด ทั้งกฎหมาย และเสรีภาพในการพัฒนาแอลกอฮอล์

“ผมอยากเห็นการพัฒนาเหล้าขาวไทยในพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยเหล้าขาวโดยเฉพาะ” เท่าพิภพ อธิบายต่อไปว่า “วันหนึ่ง ถ้ามันเป็นไปได้ ผมก็อยากเห็นคำว่า ‘เหล้าขาว’ เป็นคำทับศัพท์ในภาษาอังกฤษ เหมือนกับเราเรียกเหล้าจากรัสเซียว่า วอดก้า”

สำหรับการผลักดันคราฟต์เบียร์ไทยให้ถูกกฎหมาย เท่าพิภพ ระบุว่า ตอนนี้รอบรรจุวาระที่ประชุม ซึ่งน่าจะใกล้เข้ามาแล้ว

“ถ้าให้มองในแง่ดี คิดว่าอีกประมาณหนึ่งปี อันนี้คิดบนหลักการที่ว่า สถานการณ์การเมืองไม่นิ่งนะ”

ขณะเดียวกันในมุมมองเกี่ยวกับคราฟต์เบียร์ของอิสระ ฮาตะ ครีเอเตอร์คนดังในโลกออนไลน์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา นานถึง 4 ปี เปิดเผยว่า การไปใช้ชีวิตในต่างแดนครั้งนั้น ทำให้เขาเปิดโลก และรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “เบียร์” มากกว่าตอนที่ยังอยู่ประเทศไทย

...

“ตอนที่ไปอเมริกา แทบไม่รู้จักคราฟต์เบียร์เลย รู้แค่ว่ามันมีหลายยี่ห้อ” อิสระ เล่าต่อไป ช่วงแรกที่อยู่อเมริกา ตอนนั้นอาศัยอยู่ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย จนได้ไปรู้จักกับรุ่นน้องคนไทยคนหนึ่ง แล้วก็เป็นรุ่นน้องคนนี้ ที่แนะนำให้รู้จักกับคราฟต์เบียร์เป็นครั้งแรก

“พอได้เริ่มดื่มเบียร์มากขึ้น ก็ยิ่งเปิดโลก ได้พบว่า เบียร์ประจำถิ่นของฟิลาเดลเฟียมีรสชาติเฉพาะตัวมาก ตอนหลังผมย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์ก ก็ได้เจอเบียร์สไตล์ที่คนนิวยอร์กทำ เรียกว่าเริ่มสนุกในรสชาติของเบียร์แล้ว”

เมื่อได้ทำความรู้จักกับคราฟต์เบียร์ อิสระ อธิบายว่า คราฟต์เบียร์ในมุมมองของเขา คือ การสรรหารสชาติใหม่ๆ “ผมขอเทียบคราฟต์เบียร์เป็นร้านอาหารก็แล้วกันครับ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวมันไก่ของแต่ละร้านก็ไม่ได้มีรสชาติเหมือนกัน ถูกไหมครับ กินที่หนึ่งได้รสชาติหนึ่ง กินอีกที่ก็ได้อีกรสชาติหนึ่ง ไม่เหมือนกัน”

อิสระ เล่าต่อว่า พอมันเป็นคราฟต์เบียร์ เราไปชิมคราฟต์เบียร์ของที่นั่น ไม่ต่างจากที่เราไปดื่มน้ำที่บ้านเพื่อน เป็นการดื่มเบียร์ด้วยรสมือที่ไม่เหมือนกันในแต่ละบ้าน

...

“ถ้าเราทำคราฟต์เบียร์ด้วยมือเราเอง เราก็จะได้รสชาติเบียร์ที่เราชอบ มันกลายเป็นความสนุก และเกิดรสชาติที่เฉพาะตัว”

“ทีนี้ในช่วงที่ก่อนจะกลับมาไทย เลยลองตัดสินใจลอง ‘ต้มเบียร์’ เองเป็นครั้งแรก” อิสระย้อนความหลัง “ผมคิดว่าเบียร์มันทำไม่ยากนะ จากที่ดูคลิป ดูข้อมูล มันไม่ต่างจากการทำอาหารประเภทหมัก”

อิสระ อธิบายต่อไปว่า เมื่อเราต้องใช้ชีวิตต่างแดน สิ่งที่จะได้ติดตัวกลับมาก็คือความสามารถในการทำอาหาร ซึ่งการทำเบียร์ก็เป็นการทำอาหารอย่างหนึ่ง และสุดท้ายการต้มเบียร์ครั้งแรกก็ประสบความสำเร็จด้วยดี

“เรื่องของสูตรเบียร์หาไม่ยากครับ เสิร์ชจากอินเทอร์เน็ตก็ได้ หรือถ้ามีทุนก็ซื้อสูตรทำเบียร์เลยก็ได้เช่นกัน ซึ่งผมก็ซื้อมา ตอนที่ลองต้มเบียร์เองก็ทำนิดหน่อยทีละหนึ่งแกลลอน” อิสระ ยอมรับว่า เสียดายนิดหน่อยที่ไม่ได้ทำเบียร์ลาเกอร์ เพราะด้วยข้อจำกัดของเวลา

หลังจากที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา 4 ปี เมื่อมองย้อนกลับไป โดยเทียบบริบทสังคมไทยและสังคมอเมริกัน ถือว่ามีความแตกต่างกันไม่น้อย

“เท่าที่สังเกต วัยรุ่นอเมริกันพอเริ่มโตเขาเริ่มเสาะหาเบียร์แปลกๆ มากขึ้น เพื่อสรรหารสชาติใหม่ๆ ที่สำคัญราคาเบียร์แต่ละร้านไม่แพงมาก”

อิสระ เปิดเผยต่อไปว่า สิ่งที่น่าเสียดายของคนไทย คือ เบียร์ในไทยราคาสูงมาก อีกทั้งการเก็บภาษีของเบียร์ ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ ยิ่งสูงก็ยิ่งแพง คนไทยที่จะดื่มเบียร์ ต้องควักเงินไม่น้อยเลย

“สิ่งที่น่าเสียดาย คือ คนไทยเรามีลิ้นที่ดีมากๆ นะครับ มีการรับรู้รสชาติที่ดีเยี่ยม แต่เบียร์ที่คนไทยจะมีโอกาสได้ดื่มมีจำกัด”

เมื่ออิสระกลับมาใช้ชีวิตในไทยอีกครั้ง ก็ได้พบเห็นกระแสเรียกร้องเบียร์เสรีมากขึ้น ซึ่งในความคิดของอิสระ เชื่อว่าเบียร์ควรจะมีความเสรีได้แล้ว โดยยกตัวอย่างว่า การที่เบียร์เสรี ย่อมทำให้เกิดการแข่งขัน และต้องปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อคนที่มีความสามารถในการพัฒนาเบียร์อีกด้วย

“จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดึงฐานการผลิตเบียร์ของคนไทยที่อยู่ต่างแดนกลับมา”

แน่นอนว่า เรื่องของแอลกอฮอล์ ย่อมมีฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า เบียร์เสรี จะเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนเข้าถึงเบียร์ได้ง่ายและเร็วก่อนวัยที่เหมาะสม

“สิ่งที่จะทำให้เยาวชนเข้าถึงแอลกอฮอล์ คือ การจัดจำหน่าย ไม่ใช่การโฆษณา” อิสระ เห็นแย้ง แต่แน่นอนการให้เยาวชนเข้าถึงแอลกอฮอล์ไม่ใช่เรื่องที่ดี มันเป็นสิ่งที่ชัดเจนอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การจำกัดการเข้าถึงโฆษณาตอนนี้ทำได้ยาก เพราะมีสื่อเกิดขึ้นมากมาย โอกาสที่เด็กจะเห็นได้เองก็มีไม่น้อย

“ถ้าเป็นการควบคุมโฆษณาบางประเภทผมเห็นด้วยนะ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการแข่งขัน E-Sports อันนี้ก็คงไม่ดีนัก เพราะเด็กดูเยอะ”

นอกจากนี้ การจัดจำหน่ายแอลกอฮอล์ มันสามารถเข้มงวดได้ โดยเข้มงวด ตั้งแต่ฝั่งของผู้ปกครอง จะฝากเด็กไปซื้อก็ไม่ได้ ส่วนความเห็นที่มีต่อภาครัฐ อิสระ คิดว่า สสส. มีความเป็นห่วงจนเกินเหตุ จำเป็นต้องเปลี่ยน Mindset ใหม่ ไม่เป็นศัตรูกับแอลกอฮอล์มากเกินไป

“ถ้ามีโอกาส ต้องคุยให้ชัดเจนว่า นโยบายคืออะไร จุดเป็นประสงค์เป็นอย่างไร”

สุดท้าย สิ่งที่อิสระอยากเห็น ถ้าวันหนึ่งวันใดประเทศไทยมีเสรีคราฟต์เบียร์เกิดขึ้นแล้ว “ผมคงรออีกสักพัก แล้วออกไปสำรวจตามร้านแถวบ้านว่ามีคราฟต์เบียร์มาลงแล้วหรือยัง ซึ่งผมเชื่อว่า การดื่มใกล้บ้านจะเป็นการลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ หรือถ้าจะเดินทางด้วยแท็กซี่ อย่างน้อยๆ ต้องไม่เกิน 50 บาท”

“เมื่อถึงตอนนั้น หวังว่าจะได้เห็นเบียร์ที่สมเหตุสมผล มีการแข่งขัน และเอาใจใส่ผู้บริโภค” อิสระ ปิดท้าย