หน้าแรกแกลเลอรี่

กล้ามเนื้อฉีก

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

3 ส.ค. 2565 05:12 น.

“กล้ามเนื้อฉีก” คำนี้คนที่ชอบออกกำลังกายเป็นประจำ คงจะเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ

เพจ “วิ่งไหนกัน ปั่นไหนดี” สรุปมาให้ทราบอย่างครบถ้วน ตั้งแต่ต้นเหตุไปจนถึงการรักษา ลองอ่านกันดู

รู้จัก Muscle Strains อาการ–สาเหตุ–วิธีดูแลรักษา

วันนี้ชวนเพื่อนๆมารู้จัก Muscle Strains หรืออาการกล้ามเนื้อฉีกขาดกันครับ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนเล่นกีฬาหรือชอบออกกำลังกายอย่างพวกเรานี่แหละ เพราะฉะนั้นมาศึกษาเอาไว้ก่อนดีที่สุด

อาการกล้ามเนื้อฉีกขาดคืออะไร

เป็นอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อของเรามีความตึงเครียดจนเกิดการฉีกขาด ซึ่งมักจะเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป สามารถเกิดกับกล้ามเนื้อส่วนไหนก็ได้ แต่จะพบบ่อยที่บริเวณหลังส่วนล่าง คอ ไหล่ และเอ็นร้อยหวาย

อาการที่บ่งบอกคือ จะรู้สึกเจ็บหรือปวดกะทันหัน หากรุนแรงอาจถึงขั้นเคลื่อนไหวไม่ได้ จากนั้นกล้ามเนื้อบริเวณนั้นอาจมีลักษณะบวมช้ำหรือเปลี่ยนสี แต่ถ้าอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีก็จะหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์

สาเหตุของอาการกล้ามเนื้อฉีกขาด ได้แก่ ใช้งานหนักเกินไป ไม่ได้วอร์มอัปร่างกายก่อนออกกำลังกาย กล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่น กล้ามเนื้ออ่อนแอ การออกแรงมากเกินไป การทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวซ้ำๆ หรือเกิดจากอุบัติเหตุคับขัน เช่น ลื่นล้ม กระโดด วิ่ง โยน ยกของหนัก หรือยกของผิดท่า เป็นต้น

นอกจากนี้ หลายคนอาจเข้าใจผิดว่ากล้ามเนื้อฉีกขาดเกิดจากการออกกำลังกายหนักและมีความเข้มข้นสูงเท่านั้น แต่ตามรายงานของ Johns Hopkins Medicine พบว่าแม้แต่การเดินก็อาจเป็นสาเหตุทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดได้ รวมไปถึงสภาพอากาศที่หนาวเย็นก็เป็นต้นเหตุได้

วิธีดูแลรักษาเบื้องต้น กล้ามเนื้อส่วนใหญ่สามารถฟื้นฟูได้เอง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดเล็ก เราสามารถรักษาได้ด้วยการพักสัก 2-3 วัน แต่อย่าพักนานเกินไป จะยิ่งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ, ประคบน้ำแข็ง 20 นาทีทุกชั่วโมงในวันแรก วันต่อๆมาให้ประคบน้ำแข็งทุก 4 ชม., หลังจาก 3 วันให้ประคบร้อน, พันผ้าเพื่อลดอาการบวม, ยกสูง โดยยกกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บให้อยู่เหนือระดับหัวใจ

เมื่อไหร่ควรไปหาหมอ * ความเจ็บปวดไม่ลดลงหลังจาก 1 สัปดาห์ * กล้ามเนื้อบริเวณที่บาดเจ็บมีอาการชา * มีเลือดออกจากแผล * ไม่สามารถเดินได้ * ไม่สามารถขยับแขนหรือขาได้

แนวทางการรักษาของหมอ ก็จะมีการตรวจร่างกาย เอกซเรย์หรือสแกนดูกล้ามเนื้อ การรักษาเบื้องต้นอาจให้ยาแก้ปวดหรือยาต้านการอักเสบ เพื่อลดอาการปวดและบวม

นอกจากนี้อาจมีการทำกายภาพบำบัด ในกรณีที่รุนแรงก็อาจต้องผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมกล้ามเนื้อ.

ยุบสภา