การปลดล็อกกัญชา หรือเปิดเสรีกัญชา วันที่ 9 มิถุนายนนี้ จะทำให้กัญชาไม่ใช่สารเสพติดที่มีกฎหมายควบคุม แต่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้รถบนท้องถนน สำหรับผู้ขับขี่ที่ใช้กัญชาเกินขนาด จะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ แม้ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายเข้ามาควบคุม แต่มีการประเมินว่า หลังจากประกาศปลดล็อกกัญชาแล้ว ควรออกกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น เพราะกัญชามีการออกฤทธิ์คล้ายกับสุรา

ฤทธิ์กัญชาแรงเทียบเท่าสุรา 
“ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว” หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า วันที่ 9 มิถุนายนนี้จะปลดล็อกกัญชาจากบัญชียาเสพติด ทำให้ประชาชนสามารถปลูกใช้งาน แต่มีความกังวลถึงการออกฤทธิ์ที่กดประสาท ทำให้คนที่ใช้ในปริมาณมาก มีอาการมึนเมาเหมือนการดื่มสุรา จนเกิดอันตราย โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน หากไม่มีกฎหมายเข้ามาควบคุม


แล้วกัญชาออกฤทธิ์ต่อร่างกายอย่างไร จากข้อมูลการวิจัยพบว่า กัญชาหากกินมากจะทำให้เกิดอาการมึนเมาเหมือนการดื่มสุรา โดยจะออกฤทธิ์หลังสูบ หรือทาไปแล้ว 6 ชั่วโมง ส่วนคนที่ใช้น้ำมันกัญชาหยอดใต้ลิ้น จะออกฤทธิ์หลังใช้ไปแล้วครึ่งชั่วโมง ดังนั้นในต่างประเทศจึงมีกฎหมายห้ามคนที่ใช้กัญชาขับรถ หลังใช้มาแล้ว 6 ชั่วโมง

...

สำหรับอาการคนที่มีอาการมึนเมาจากกัญชาคล้ายกับการดื่มสุรา จะมีพฤติกรรมพูดคุยมากกว่าปกติ ออกฤทธิ์กดประสาททำให้ขาดสติในการควบคุมรถยนต์บนท้องถนน โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยใช้กัญชามาก่อน มีโอกาสมึนเมาเร็วกว่าคนที่เคยใช้มาแล้ว

หากเทียบฤทธิ์กัญชากับสุรา มีความใกล้เคียงกัน แต่การออกฤทธิ์ช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายแต่ละบุคคล เช่น คนไข้บางรายกินใบกัญชาแค่ 5-6 ใบ ก็มีอาการง่วงซึม ใจสั่นทันที ดังนั้นการออกกฎหมายที่จะมาควบคุมผู้ขับขี่ ควรมีการวิจัยเพื่อออกกฎควบคุมว่า ควรใช้ในปริมาณเท่าไรที่เหมาะสม

เนื่องจากตอนนี้ไทยมีข้อมูลการออกฤทธิ์ของการกัญชาแต่ละรูปแบบน้อย ทำให้หลังจากประกาศปลดล็อกกัญชา จะมีปัญหาตามมาในการควบคุมการใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่นในต่างประเทศบางแห่งใช้เวลาพอสมควรกว่าที่คนในสังคมจะมีมาตรการควบคุม ที่สำคัญคือผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับกัญชาจะมีการจำกัดปริมาณกัญชาที่ใส่ลงไปในสินค้าด้วยปริมาณที่เหมาะสมกับคนแต่ละวัย ซึ่งกลไกนี้เป็นมาตรการควบคุมปริมาณการใช้ของผู้บริโภค

ออกกฎคุมขับรถ ไล่ไม่ทันปลดล็อกกัญชา 
“พรหมมินทร์ กัณธิยะ” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ค่อนข้างกังวลกับการเปิดเสรีกัญชาของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะผู้ที่ขับขี่รถบนท้องถนน ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพราะกัญชาออกฤทธิ์เหมือนกับสุรา ที่ผ่านมาทราบดีว่าสถิติผู้ที่เมาแล้วขับส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนค่อนข้างมาก หากมีการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นมาอีก จะเป็นการซ้ำเติมให้เกิดปัญหาใหม่เพิ่มขึ้น

สิ่งสำคัญหลังจากปลดล็อกกัญชา รัฐควรมีมาตรการควบคุมผู้ขับขี่ไม่ให้ใช้กัญชาเกินขนาดจนทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยต้องออกกฎหมายควบคุมอย่างรวดเร็วหลังจากนี้ เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มักปล่อยปละละเลย ทำให้ปัญหาสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ หรือหน่วยงานที่ควบคุมด้านจราจร เบื้องต้นควรมีการกำหนดความผิดเหมือนกับการดื่มสุรา เพื่อเป็นมาตรฐานในการลงโทษผู้กระทำผิด

ด้านผู้ที่ควบคุมการใช้กฎหมายจะต้องมีความรู้ และแยกให้ออกว่าผู้ขับขี่ที่ก่อเหตุลักษณะใดเป็นอาการเมาที่เกิดจากกัญชา หรือสุรา ขณะเดียวกันต้องมีเครื่องมือที่สามารถตรวจวัดอาการเมาของผู้ก่อเหตุ เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมาพอมีการออกกฎบางอย่างมา แต่ขาดการบังคับใช้เข้มงวดจากเจ้าหน้าที่

จากการสอบถามแหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า ตอนนี้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมอนามัย เพื่อวางกรอบแนวทางการปลูกกัญชาหลังปลดล็อก รวมถึงปริมาณกัญชาที่สามารถใส่ในสินค้าแต่ละแบบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนในกลางเดือนมิถุนายนนี้ โดยเบื้องต้นจะออกเป็นข้อกำหนด ก่อนนำเสนอออกเป็นกฎหมายต่อไป.