เหตุน้ำมันดิบรั่วไหล จำนวน 400,000 ลิตร หรือ 400 ตัน ห่างจากฝั่ง 20 กม. จากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเลอ่าวไทย บริเวณท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ตั้งแต่คืนวันที่ 25 ม.ค. 2565

ทางกรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งยับยั้งไม่ให้น้ำมันเคลื่อนที่เข้าสู่ชายฝั่งทางด้านเหนือของจ.ระยอง และประกาศแจ้งเตือนประชาชน หยุดลงเล่นน้ำทะเล เนื่องจากน้ำมันอาจเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งทะเลหาดแม่รำพึง จนถึงอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ในเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 28 ม.ค.นี้ คาดจะมีน้ำมันไหลเข้าพื้นที่ ประมาณ 180,000 ลิตร

ขณะที่บริษัทสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้แถลงในทันทีที่เกิดเหตุ ได้ระดมทีมเพื่อควบคุมสถานการณ์ตามแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน อีกทั้งหยุดกิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมด ตามขั้นตอนความปลอดภัย และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมสิ่งแวดล้อมต่างๆ

จากการบินลาดตระเวนของกองทัพเรือ ภาคที่ 1 เพื่อสำรวจการเคลื่อนที่ของน้ำมัน พบมีปริมาณน้ำมันหลงเหลืออยู่ในทะเลประมาณ 20 ตัน หรือ 20,000 ลิตร และมีการประสานผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสิงคโปร์ ให้ความช่วยเหลือ คาดว่าจะสามารถขจัดและเก็บคราบน้ำมันได้ทั้งหมดภายในไม่ช้า และจัดส่งทีมติดตามสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

...

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 เกิดเหตุการณ์ท่อรับน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) รั่วกลางทะเล ทางทิศเหนือและตะวันตกของเกาะเสม็ด จ.ระยอง มีปริมาณน้ำมันรั่วไหลประมาณ 50,000 ลิตร หรือ 50 ตันลิตร อยู่ในระดับที่ 2 ซึ่งรั่วไหลมากกว่า 20 - 1,000 ตันลิตร จากทั้งหมด 3 ระดับ (Tier) ตามการจำแนกในแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ

ครั้งนี้ก็เช่นกันอยู่ในระดับที่ 2 การขจัดคราบน้ำมัน ต้องร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ และต้องแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบก่อน หากเกินขีดความสามารถของทรัพยากรที่มี อาจต้องขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ

สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ได้จำแนกเขตความเสี่ยงต่อน้ำมันรั่วไหลในน่านน้ำทะเลไทย ตามระดับความเสี่ยงและความรุนแรง ต่อการได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหล โดยเขตที่ 1 มีความเสี่ยงสูงมาก ได้แก่ บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เนื่องจากเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม มีกิจกรรมการขนถ่ายน้ำมันบริเวณท่าเทียบเรือและกลางทะเล ทำให้มีการจราจรทางน้ำหนาแน่น

น้ำมันดิบรั่วกลางทะเล ปี 2556 ทำให้ชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด แปรเปลี่ยนเป็นสีดำสนิท ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว
น้ำมันดิบรั่วกลางทะเล ปี 2556 ทำให้ชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด แปรเปลี่ยนเป็นสีดำสนิท ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว

ขณะที่ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล ระบุกรณีน้ำมันรั่วนอกฝั่ง อย่างน้อย 4 แสนลิตร คล้ายกรณีน้ำมันรั่วบริเวณเกาะเสม็ด เพราะน้ำมันรั่วนอกฝั่งเหมือนกัน แต่ปริมาณครั้งนี้มากกว่า เห็นได้ชัดจากการแผ่ขยายของน้ำมันกว้างมาก

“ปัจจัยสิ่งแวดล้อม ลมพัดขึ้นเหนือไม่ค่อยแรง ต่างจากครั้งก่อนที่ลมพัดไปทางตะวันออก ค่อนข้างแรง พื้นที่เกิดผลกระทบอาจต่างกัน หนนี้น่าจะเป็นชายฝั่ง เมืองระยอง หาดแม่รำพึง ก้นอ่าว และที่ต่างๆ ตรงนั้นเป็นหาดทรายยาว หากน้ำมันดิบมาถึงหาดทราย อาจเกิดคราบดำบนหาดหรือเกิดก้อนน้ำมันดิบ”

การกำจัดคราบน้ำมันจากหาดทรายทำยากมาก อาจใช้แผ่นซับ เก็บก้อนน้ำมันดิน ไปจนถึงตักหน้าทรายออก แต่ทุกอย่างยากหมด และวิธีดีสุดอย่าให้ถึงฝั่ง เนื่องจากลมค่อนข้างเบา พอมีเวลาใช้บูมดัก กวาดน้ำมันออก ใช้สารเคมีทำให้จมตัวลง ต้องใช้ในที่ลึก อย่าใช้ในที่ตื้นเกินไป เพราะน้ำมันกับสารจะแตกตัวไม่ทัน ไปกองที่พื้นก่อน ซึ่งมีในคู่มือการใช้ ขอเพียงทำตามและระวังให้มาก เพราะพื้นทะเลแถวนั้นเป็นแหล่งประมงพื้นบ้าน

...

แต่ข้อจำกัดของเราอยู่ที่อุปกรณ์ แม้จะมีการพัฒนาการรับมือจากประสบการณ์ครั้งก่อน แต่ยังต้องระวังเพราะครั้งนี้ปริมาณน้ำมันมาก โดยกรมควบคุมมลพิษ ใช้โมเดล คาดว่าจะถึงฝั่ง 180,000 ลิตร ถือว่าปริมาณมากจนน่าเป็นห่วงระบบนิเวศหลักๆ จะส่งผลกระทบหาดทรายในพื้นที่เมืองระยอง ถึงก้นอ่าว หญ้าทะเลบริเวณบ้านเพ รวมถึงสวนสน ต้องเฝ้าระวังอย่างมาก แต่ช่วงนี้น้ำไม่ลงต่ำจนแห้ง คราบน้ำมันไม่น่าลงไปบนหญ้าโดยตรง และทิศทางลมไม่ได้ไปทางเกาะเสม็ด แนวปะการังอาจได้รับผลไม่มาก แต่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่เดิม เช่น อ่าวพร้าว และให้เน้นหาดทรายกับพื้นท้องทะเลเป็นหลัก.