ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) กลายเป็นความหวังของหลายคนที่ผ่านการต่อสู้กับโควิด-19 ที่ไม่สามารถผ่านด่านแรกไปได้ จนกลายเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่คำถามที่ดังขึ้นซ้ำๆ คือ ยารักษาโควิดนี้เป็นความหวังลมๆ แล้งๆ หรือไม่ เพราะยังมีหลายคนเสียชีวิตคาบ้าน จากการรอทั้งการตอบกลับของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อพาไปรักษาตัว และการรอยาฟาวิพิราเวียร์ที่หลายคนได้ยาช้า จนอาการหนักขึ้น และหากยอดติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยาฟาวิพิราเวียร์จะมีเพียงพอหรือไม่

นอกเหนือจากยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ตอนนี้ใช้เป็นยาหลักในการรักษาโควิดแล้ว ล่าสุดยังมียาที่หลายคนให้ความสนใจ คือ เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) และยาในกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ (Neutralizing Monoclonal Antibodies) หรือที่เรียกกันว่า ยาแอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail) ที่มีการสั่งซื้อเข้ามาในไทยแล้ว โดยเฉพาะยาแอนติบอดี ค็อกเทล ที่หากใครพอมีความสามารถจ่ายได้โดสละ 41,000 บาท ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ หรือเริ่มติดเชื้อที่ไม่มีอาการ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้อธิบายถึงความคืบหน้าของยาเหล่านี้ รวมถึงข้อควรระวังต่างๆ ระหว่างการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ว่าในส่วนยาฟาวิพิราเวียร์นั้นได้รับการยืนยันจากองค์การเภสัชกรรมว่าในเดือนสิงหาคม 2564 มีการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ประมาณ 40 ล้านเม็ด ราคาเม็ดละประมาณ 15 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่นำเข้ามาประมาณ 20 ล้านเม็ด

...

จำนวน 40 ล้านเม็ดนี้จะเพียงพอรองรับผู้ติดเชื้อโควิดในกลุ่มสีเหลือง คือกลุ่มที่รับเชื้อมา 5-7 วัน เริ่มแสดงอาการแต่ไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ โดยในต่างจังหวัดสามารถเบิกจ่ายยาได้จากโรงพยาบาลประจำจังหวัด ส่วนเดือนกันยายน หรือเดือนต่อๆ ไป จะสั่งซื้อเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะมีการประเมินอีกครั้งกลางเดือนนี้

สำหรับเกณฑ์การให้ยาฟาวิพิราเวียร์นั้น กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือไม่มีโรคประจำตัว จะยังไม่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ให้ยาฟ้าทะลายโจรได้ โดยต้องกินปริมาณ 180 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากเริ่มมีอาการจะจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ผ่านการพิจารณาของแพทย์ ซึ่งกลุ่มที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) เมื่อลงทะเบียนในระบบแล้ว จะมีแพทย์พิจารณาโดยดูแลคนไข้ผ่านระบบออนไลน์ (Telemedicine) วันละสองครั้ง มีการวัดไข้ และวัดระดับออกซิเจน โดยผู้ป่วยรายหนึ่งต้องใช้ยา 50-90 เม็ด ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก และอาการของผู้ป่วย แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว ปอดบวม ให้พิจารณาเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วย

ส่วนยาเรมเดซิเวียร์ ซึ่งมีราคาแพงกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ 10 เท่า แต่มีความคืบหน้าที่องค์การเภสัชกรรมกำลังเจรจากับเอกชนในการผลิต โดยขณะนี้มีสำรองอยู่ประมาณ 1 หมื่นขวด ซึ่งผู้ป่วยรายหนึ่งใช้ยา 6 ขวด ซึ่งขณะนี้ทั้ง ยาเรมเดซิเวียร์ และยาฟาวิพิราเวียร์ แจกให้โรงพยาบาลใช้กับผู้ป่วยแล้ว

พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กรมการแพทย์ อธิบายถึงความจำเป็นในการใช้ยาเรมเดซิเวียร์ ว่า เหมาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เพราะยาฟาวิพิราเวียร์มีผลข้างเคียงต่อหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก หรือผู้ป่วยอาการรุนแรง ที่อาจทำให้ทารกพิการ นอกจากนี้ยังเตือนว่า ประชาชนไม่ควรซื้อยาด้วยตัวเอง เพราะการใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ อาจเกิดผลข้างเคียง และที่สำคัญจะทำให้เกิดอาการดื้อยาได้

สำหรับยาตัวล่าสุด คือ ภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ นั้นอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า มีงานวิจัยในต่างประเทศว่า ใช้สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการ หรือเริ่มมีอาการ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงเพิ่งสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเริ่มนำเข้าแล้ว ฉีดแล้วมีภูมิเหมือนวัคซีน แต่เชื้อมีเยอะแล้วมักไม่ได้ผล ในราคาโดสละ 41,000 บาท มีขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้ว และให้ประชาชนจ่ายเอง

เรื่องของความพร้อมของยารักษาโควิดเป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วยขณะเดียวกันกรมการแพทย์และหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขต่างพยายามเต็มที่ในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งขณะนี้ได้ปรับระบบรองรับตั้งแต่ระบบการติดต่อสื่อสาร การลงทะเบียน การกักตัว ทั้งการอยู่ที่บ้าน หรือที่ศูนย์พักคอยของชุมชน จนถึงการเพิ่มฮอสพิเทลที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองมากขึ้น เพราะขณะนี้มีผู้ป่วยที่มีอาการเริ่มหนักเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนเกินขีดการรับมือของโรงพยาบาล โดยทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต่างหมุนเวียนเวรกันมาดูแลอย่างเต็มที่ มีการฝึกอบรมพยาบาลแผนกอื่นๆ มาดูแลในห้องผู้ป่วยไอซียูมากขึ้นด้วย.

...