กระแสเพจ "ย้ายประเทศกันเถอะ" ได้รับความสนใจล้นหลาม เพียงวันแรกที่เปิดเพจ ยอดสมาชิกปาไป 5 แสนราย จนตอนนี้ (4 พ.ค.) มีผู้ติดตามแล้วเกือบ 7 แสนราย

บทสนทนาในกลุ่ม พูดถึงการเตรียมตัวอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องเบื้องต้นอย่างการเตรียมเอกสาร วางแผนภาษา ทางเลือกอาชีพในประเทศต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เพียงแค่ชวนกันไปทำงาน หรือไปเรียนชั่วคราว แต่คาดหวังไปถึงการใช้ชีวิตจนได้สถานะพลเมือง หรือได้เป็น citizen ในต่างแดน

ปรากฏการณ์นี้ตามมาด้วยกระแสตอบกลับ ทั้งเรื่องความลำบากในต่างแดน (เช่น ปัญหาการใช้มือจับลูกบิดประตูในวันอากาศหนาวติดลบ) การย้ายไปเพื่อเป็นเพียงพลเมืองชั้นสองชั้นสามของที่อื่น หรือกระทั่งการกระแนะกระแหนว่า จะมีคุณสมบัติหรือสถานะทางสังคมที่สามารถย้ายไปได้จริงหรือ?

แม้ความลำบากเหล่านั้นจะมีอยู่จริง แต่ก็อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญในห้วงยามนี้ ที่ปมปัญหาใหญ่เกิดมาจากความรู้สึก “ขาดแคลนโอกาส” ที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า เนื่องจากประชาชนไม่สามารถปีนข้ามกำแพงความเหลื่อมล้ำและกลไกผูกขาดทั้งด้านทุนและการเมืองได้ไหว

อย่าลืมว่า ย้อนไปในช่วง Work from Home ปีที่แล้ว ที่โควิด-19 ลุกลามเป็นปีแรกจนกระทบธุรกิจรายย่อย เพจดังที่จุดประกายไอเดียและสร้างการมีส่วนร่วมได้สูงสุดคือ เพจธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ที่เปิดพื้นที่กลางให้คนมาซื้อขายของผ่านเครือข่ายของระบบมหาวิทยาลัย จากนั้นเพจสถาบันอื่นๆ ก็ค่อยๆ เปิดตามกันมาภายใต้แนวคิดคล้ายกัน ซึ่งโดยรวมมันคือกระแสของความร่วมแรงร่วมใจต่อสู้วิกฤติ และกัดฟันอดทนกับความยากลำบากไปด้วยกัน

ผ่านไปหนึ่งปี โควิดระลอกใหม่กลับมาระบาดหนัก ท่ามกลางคำถามและข้อเรียกร้องต่อแผนการจัดการปัญหา แต่ระบบการเมืองเวลานี้ กลับไม่เปิดช่องให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมเสนอแนะและตรวจสอบรัฐบาล ไม่มีพื้นที่ให้พลเมืองที่แอ็กทีฟ ต่างฝ่ายต่างต้องกัดฟันอดทน เพราะหากจะตั้งคำถามตรวจสอบผู้นำในระบบ ก็ติดล็อกด้วยรัฐธรรมนูญที่มีกลไกสมาชิกวุฒิสภาแบบแต่งตั้ง การออกมาประท้วงไล่ผู้นำบนท้องถนนก็แลกมาด้วยการถูกจับกุม ตั้งข้อหา และไม่ได้ประกันตัว ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในสายตาเยาวชนนั้น ไม่ใช่พิมพ์เขียวหรือโรดแม็ปเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่คือเส้นทางบังคับ ให้ต้องเดินรอยตามแนวทางที่ขีดไว้

...

จากพลังที่เคยร่วมแรงร่วมใจในปี 2563 เวลานี้แรงเหล่านั้นริบหรี่ลง กลายเป็นความโกรธแค้นและท้อแท้ เพจอย่างการฝากร้านฯ ไม่ช่วยชุบชูใจให้ความหวังได้อีกต่อไปแล้ว แต่เพจอย่าง "ย้ายประเทศกันเถอะ" กลับเติบโตอย่างรวดเร็ว ที่เพียง 24 ชั่วโมงแรกก็สร้างยอดสมาชิกได้ถึงเป็นหลักหลายแสน

หากหันมอบไปรอบบ้านเรา ในประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ล้วนมีเรื่องราวที่พลเมืองเลือกจะเดินทางไปใช้ชีวิตที่อื่น ตัวอย่างของสองประเทศที่มีผู้อพยพมหาศาล คือ จีน และไอร์แลนด์

สำหรับประเทศจีน จากปัญหาในประเทศหลายต่อหลายระลอก ทั้งปัญหาการเมืองและปัญหาปากท้อง บีบคั้นให้คนจีนจำนวนมหาศาลอพยพกระจายไปทั่วโลกในหลายช่วงเวลา ข้อมูลในปี 2019 ชี้ว่า มีลูกหลานชาวจีนจำนวนมากกว่า 49 ล้านคน กระจายตัวอยู่ทั่วโลก จนเรื่องราวของจีนโพ้นทะเลปรากฏในภาพยนตร์และวรรณกรรมมากมาย มาวันนี้ คนจีนในต่างแดนยังเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นต่างๆ หรือกระทั่งในประเทศไทย ที่ถือเป็นประเทศที่มีชุมชนคนจีนขนาดใหญ่ และประสบความสำเร็จในการงานมากที่สุดแห่งหนึ่ง

ส่วนที่ไอร์แลนด์ ไม่น่าเชื่อว่า ชาวไอริชคือชนชาติหนึ่งที่มีการย้ายถิ่นฐานมากที่สุดในโลก ซึ่งเกิดจากภาวะอดอยากและปัญหาการเมือง ทำให้มีลูกหลานคนไอริชกระจายอยู่นอกประเทศถึง 70 ล้านคน (ตัวเลขประมาณการเมื่อปี 2017 ของรัฐบาลไอร์แลนด์) ถือเป็นจำนวนมหาศาลถ้าเทียบกับประชากรในไอร์แลนด์ที่มีเพียง 4.5 ล้านคน และในไอร์แลนด์เหนือ 1.5 ล้านคน

ที่น่าสนใจคือ ทั้งสองประเทศนี้ยังมีนโยบายที่หวงแหนและรักษาคนที่มาจากเชื้อชาติเดียวกัน เช่น จีนมีนโยบายว่าด้วยจีนโพ้นทะเล เช่น ให้วีซ่าและลูกหลานชาวจีนที่ไม่มีสัญชาติจีน สามารถพำนักในประเทศได้นาน 5 ปี ส่วนไอร์แลนด์เอง ก็ตั้งรัฐมนตรีว่าด้วยกิจการคนพลัดถิ่น (Ministry of Diaspora Affairs) และยังระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ว่า "ประเทศไอร์แลนด์จะปกป้องและรักษาสายสัมพันธ์พิเศษที่มีต่อชาวไอริชในต่างประเทศ ซึ่งมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและมรดกร่วมกัน" ซึ่งเป็นการให้เกียรติและศักดิ์ศรี แม้จะไม่ได้เป็นพลเมืองตามกฎหมาย

แม้การย้ายถิ่นฐานไม่ใช่เรื่องง่าย ยังไม่นับว่า การร่วมพัฒนาประเทศจากแดนไกลจะยังเป็นเป้าหมายชีวิตหรือไม่ และจะทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่น่าเสียดายที่คำถามเหล่านี้ถูกลดทอนไปด้วยแรงผลัก ดังเช่นที่เห็นได้จากปฏิกิริยาตอบกลับจากเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยที่ส่งสัญญาณเชิงขับไล่ไสส่ง ด้วยการเหมารวมว่าเป็นพฤติกรรมของกลุ่มชังชาติ และมองว่าอาจมีสมาชิกที่มุ่งหมายจะสร้างความแตกแยก และหมิ่นสถาบันฯ จนมีความเคลื่อนไหวตอบโต้ด้วยการเตรียมส่งคณะทำงานเข้ามาตรวจสอบ

ขณะที่กลุ่มคนที่สิ้นหวังรวมตัวกัน และเตรียมหาช่องทางของตัวเองเสียใหม่ จนอาจจะกลายเป็นจุดเริ่มของปัญหาภาวะสมองไหลในอนาคต แต่ด้วยท่าทีจากฝ่ายรัฐเช่นนี้ ยิ่งกลับทำให้เห็นว่า รัฐอาจจะรู้สึกช้า หรือเพิกเฉย ที่ไม่ยอมเปิดใจฟังเสียงความกลัดกลุ้มที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งกำลังรู้สึก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ยิ่งตอกย้ำวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ว่า ถ้าประเทศไทยไม่สามารถเดินหน้าไปไกลกว่านี้ได้แล้ว พวกเขาก็อาจต้องเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตเสียใหม่ จากสมัยก่อน เยาวชนอาจจะมีเส้นชัยเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ เพื่อจะทำงานหาเลี้ยงชีพและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ แต่วันนี้ ปลายทางหลายคนเริ่มเติมแผนชีวิตที่ตั้งเป้าจะย้ายไปอยู่ประเทศอื่นแทน

...

และหากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ต่อไป ในอนาคต 10-20 ปีข้างหน้า ขณะที่สังคมโลกส่วนใหญ่อาจกำลังรับมือกับสังคมสูงวัย หรือปัญหาคนไม่มีลูกซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของโลกแล้ว สำหรับเมืองไทยอาจต้องเตรียมรับมือกับอีกหนึ่งปัญหา นั่นคือการที่แรงงานฝีมือดีพากันหนีหายไปอยู่ที่อื่นกันหมด โดยไม่อยากเหลียวกลับมาไยดีประเทศบ้านเกิดที่เราควรภาคภูมิใจอีกต่อไป.